ENVIRONMENT

กรมควบคุมมลพิษติดตามคุณภาพอากาศ-น้ำ รอบพื้นที่เพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติก

กรมควบคุมมลพิษ ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารอันตรายในพื้นที่ที่เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด และพื้นที่รอบนอก โดยในรัศมี 1 กิโลเมตรแรกจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งสารเคมีที่ต้องระวัง คือ โซเว้นท์ ที่ติดไฟได้ง่าย และสารสไตรีนโมโนเมอร์ ใช้เป็นองค์ประกอบทำเม็ดพลาสติก เมื่อเกิดลุกไหม้ไฟจะปลดปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ 

โดยตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเกิดเหตุ (5 กรกฎาคม 2564) ได้ใช้หน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่(Mobile Unit) ไปติดตั้ง ณ บริเวณเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลีจ.สมุทรปราการ ดำเนินการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด คือ 1) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมโครอน(PM10) 2) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครอน (PM2.5) 3) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) 4) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)5) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และ 6)โอโซน (O3) โดยจุดติดตั้ง Mobile อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังติดตามคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ 5 สถานีในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ 1) ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง 2) ต.บางโปรง อ.เมือง 3) ต.ตลาด อ.พระประแดง 4) ต.ปากน้ำ อ.เมือง และ 5) ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง 

สำหรับ ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศล่าสุดวันนี้ พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมากและได้มีการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (Total VOCs) ด้วยเครื่องมือแบบเคลื่อนที่ (Portable) บริเวณรั้วโรงงาน บริเวณด้านหน้าโรงงานห่างออกมา 5 เมตร และ 50 เมตร พบว่าในรัศมีที่ห่างออกไปค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายจะน้อยลง และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ จากการตรวจคุณภาพอากาศในพื้นที่อย่างต่อเนื่องพบว่า คุณภาพอากาศโดยรวมเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ และอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องลดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนกลับมายังที่อยู่อาศัยได้ แต่ยังต้องมีการเฝ้าติดตามด้านมลพิษอย่างต่อเนื่อง 3 วัน ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากมีกรณีฝนตกลงมา อาจจะชะสารเคมีลงใต้ดิน แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ ซึ่งจะยากต่อการควบคุม และการเข้าไปบำบัดเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป 

นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่เพิ่มเติมที่โรงเรียนกิ่งแก้ว พร้อมทั้งนำเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 แบบอัตโนมัติสำหรับตรวจวัดภายนอกอาคาร (Outdoor) ไปติดตั้งเพิ่มเติมตามชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีความเสี่ยง 2 ถึง 3 จุด เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและผลกระทบที่ชุมชนจะได้รับจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวต่อไป 

สำหรับการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ได้มีการสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำแหล่งน้ำและคลองโดยรอบที่เกิดเหตุจำนวน 7 จุด ได้แก่ คลองชวดลาดข้าว จำนวน 2 จุด ด้านฝั่งตะวันออกของโรงงานเกิดเหตุ จุดปากท่อน้ำเสียที่ไหลลงคลองชวดลาดข้าว 1 จุด คลองูอาจารย์พร จำนวน 1 จุด ด้านเหนือโรงงานเกิดเหตุ ปากท่อน้ำเสียไหลลงคลองอาจารย์พร 1 จุด บึงน้ำด้านตะวันตกของโรงงานเกิดเหตุ 1 จุด และ บริเวณรางน้ำหน้าโรงงานเกิดเหตุ 1 จุด  ทั้งนี้ เก็บตัวอย่างน้ำส่งห้องปฏิบัติการกรมควบคุมมวลพิษ ตรวจวิเคราะห์ หาสารสไตรีน (Styrene)  ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และ น้ำมันและไขมัน(Grease and Oil)

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ และคุณภาพน้ำ บริเวณพื้นที่โดยรอบสถานที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ และสามารถดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากพบค่ามลพิษสูงเกินมาตรฐานกำหนด 

Related Posts

Send this to a friend