ENVIRONMENT

เดินหน้าผันน้ำแม่กลองไล่น้ำเค็มเจ้าพระยา สทนช. จ่อเสนอ ครม. ของบกลาง 3,000 ล้าน คุมภัยแล้ง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการ 3 หน่วยงาน กปน. ชป. กฟผ. เดินแผนผันน้ำจากแม่กลองขับไล่น้ำเค็มรุกล้ำเจ้าพระยาให้กลับสู่ปกติ เพิ่มความเชื่อมั่นคุณภาพการผลิตน้ำประปาที่คาดน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งช่วง 8-15 ม.ค. พร้อมเตรียมเสนอครม.เห็นชอบงบกลางสนับสนุนแหล่งน้ำระยะเร่งด่วนช่วยเหลือภัยแล้งกว่า 3,000 ล้าน วันพรุ่งนี้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาการรุกตัวน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและมาตรการรองรับ ว่า จากการคาดการณ์พบว่า ช่วงประมาณวันที่ 8-15 ม.ค. 62 นี้ ลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำโดยตรง ดังนั้น มาตรการเร่งด่วนนอกจากการระบายน้ำจาก 2 เขื่อนหลักตอนบน ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อผลักดันน้ำเค็มแล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่จำกัด จึงต้องมีการปรับแผนลำเลียงน้ำจากฝั่งตะวันตกซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำฯ มากกว่า ระบายผ่านแม่น้ำแม่กลองมาช่วยเหลือในพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกันของ การประปานครหลวง(กปน.) กรมชลประทาน(ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งนอกจากจะช่วยในการรักษาคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำประปาแล้ว ยังช่วยผลักดันน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ปัจจุบันได้มีการดึงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่าน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 

1) คลองท่าสาร-บางปลา 

2) คลองจรเข้สามพัน โดยขณะนี้มีการปรับอัตราการระบายเพิ่มขึ้น จาก 35 ลบ.ม./วินาที เป็น 50 ลบ.ม./วินาที ก่อนน้ำไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน เข้าสู่คลองพระยาบันลือและไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้กรมชลประทานกำลังพิจารณาเพิ่มปริมาณน้ำในคลองพระยาบันลือให้มากขึ้น และ 

3) คลองประปา ปัจจุบัน กปน. ปรับการระบายเพิ่มขึ้นเป็น 30 ลบ.ม./วินาที แต่ยังไม่เพียงพอ จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 10 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ ในส่วนของคลองประปาด้านหลังที่เชื่อมกับคลองบางกอกน้อย อาจจะต้องมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำหรือใช้ระบบสูบน้ำเข้าช่วย 

นอกจากนี้กรมชลประทาน โดยการสนับสนุนจาก กทม.และกองทัพเรือ อาจต้องมีการวางกระสอบทรายปิดกั้นเพื่อช่วยให้น้ำลำเลียงเข้าสู่คลองบางกอกน้อยให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

“ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ร่วมกันเพิ่มศักยภาพการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการดำเนินการได้เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ และจะต่อเนื่องไปในอีก 3-4 วัน ข้างหน้านี้ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการวิเคราะห์ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว และยืนยันว่าน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำแม่กลองยังคงอยู่ในปริมาณที่กำหนดไว้ คือ 500 ล้าน ลบ.ม. โดยขณะนี้ใช้ไปแล้วกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งในการประเมินล่าสุดยังพบว่าสามารถผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งลุ่มน้ำแม่กลองได้มีการสำรองน้ำไว้เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ น้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและฤดูฝนที่จะมาถึง ปริมาณน้ำที่ผันมานี้จึงนับว่าเป็นน้ำส่วนที่มากเกินความต้องการ สามารถผันมาช่วยเหลือแม่น้ำเจ้าพระยาได้ โดยมั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของชาวแม่กลองอย่างแน่นอน นอกจากนี้กรมชลประทานจะพยายามปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ทันต่อช่วงวันที่ 8-15 ม.ค. นี้ เป็นการควบคุมไม่ให้ลิ่มความเค็มไม่ให้ขึ้นสูงจนกระทบต่อความกร่อยของน้ำประปา แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง อาจส่งผลกระทบถึงคุณภาพน้ำอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี การประปานครหลวงจะรับหน้าที่การตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะนำไปใช้ในการผลิตน้ำประปา เพื่อให้การใช้น้ำประปาไม่เกิดปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากในช่วงปลายฤดูแล้ง ความรุนแรงของภัยแล้งอาจจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อความไม่ประมาท พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงมีมติผ่านการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในการเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (7 ม.ค. 63) พิจารณาอนุมัติงบกลาง เพื่อดำเนินการตามปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งระยะเร่งด่วน ที่จะเน้นพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภคทั้งในเขตและนอกเขตการประปา รวม 2,041 โครงการ วงเงิน 3,079 ล้านบาท รองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่อาจจะมีผลกระทบมากขึ้นได้ในปลายฤดูแล้งช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. ดำเนินการโดย 4 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาล เชื่อมโยงแหล่งน้ำผิวดิน เป็นต้น

รัฐบาลให้ความสำคัญและมีข้อห่วงใยต่อภาวะน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นได้จากการคาดการณ์ปริมาณฝนที่อาจจะล่าช้าไปถึงเดือนมิถุนายน และตกเข้าใกล้เกณฑ์ปกติในเดือนกรกฎาคม ดังนั้น มาตรการเร่งด่วนระยะสั้น และระยะกลาง ในการแก้ไขภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก คือ คือ 

1) งบกลาง ที่จะเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบในวันพรุ่งนี้ วงเงิน 3,097 ล้านบาท เพื่อหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมรวม 2,041 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เกิดผลภายใน 90-120 วัน 

2) การปรับแผนงานโครงการ งบประมาณปกติปี 2563 ของหน่วยงานเพื่อช่วยแก้แล้งในช่วง 1-2 เดือนนี้ วงเงิน 2,950 ล้านบาท จำนวน 1,337 โครงการ ประกอบด้วย การประปานครหลวง (กปน.) การประปาภูมิภาค และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล ซ่อมแซมระบบประปา เชื่อมโยงแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งน้ำ และ 

3) แผนงานโครงการตามงบประมาณปี 2563 เมื่อสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียบร้อยแล้ว จะต้องเร่งรัดดำเนินการทันที โดยเฉพาะโครงการที่ต้องดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 57 จังหวัด จำนวน 1,434 โครงการ วงเงินประมาณ 9,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ พัฒนาแก้มลิง ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน ปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนประมาณ 166,300 ไร่ ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ 135 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 72,190 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 ม.ค. 63 นี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมายัง สทนช. เพื่อเป็นประธานเปิดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (War Room) ให้ทุกส่วนราชการกว่า 30 หน่วยงาน ได้ผนึกกำลังในการแก้ไขปัญหาในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถยับยั้ง บรรเทา และแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงมาตรการเชิงป้องกันพื้นที่อื่น ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะประชาชนต้องไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ข้อมูลข่าว: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

Related Posts

Send this to a friend