ENVIRONMENT

ภาคประชาชนนับถอยหลัง เคลื่อนพลบุก กรุงฯ ทวงคืนชายหาด

กรมโยธาฯ แจง โครงการเขื่อนกันคลื่นเป็นไปตามหลักวิชาการ ด้านภาคปชช.นับถอยหลัง เคลื่อนพลบุกกรุงฯ ทวงคืนชายหาด

วันพรุ่งนี้ (6 ธ.ค. 65) ครบกำหนดทราบผล 3 ข้อเรียกร้องของ Beach for life เเละเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ที่ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. กรณีให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินโครงการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง , ให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ต้องผ่านการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และให้รัฐเร่งฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากโครงการกำแพงกันคลื่นในช่วงที่ผ่านมา

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้มีการทบทวนมาตรการทำอีไอเอในโครงการกำแพงกันคลื่น และให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้ทุกหน่วยงานร่วมกันพิจารณาโดยเร็ว ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประสานงานไปยังกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอให้มีข้อตกลง หรือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือการแก้ไขปัญหากัดเซาะอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล โดยเริ่มจากรับคำขอโครงการจากท้องถิ่น คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการตามระดับความรุนแรงของการกัดเซาะ ที่ส่งผลต่อความเดือดร้อนของประชาชนหรือทรัพย์สินของทางราชการ และต้องสอดคล้องกับข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากนั้นจะศึกษาสำรวจออกแบบตามหลักวิชาการ โดยขั้นตอนการศึกษาออกแบบได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อนำข้อคิดเห็นไปทบทวนปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม จึงเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างต่อไป พร้อมนี้ ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และมีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลกระทบในระยะยาวหลังก่อสร้างเสร็จ

กรณีกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลนั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ยืนยันว่า การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริมทะเลทั่วประเทศ ได้ดำเนินโครงการ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มีคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ

สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ ที่มีคณะกรรมการที่มาจากนักวิชาการ ภาคประชาชน NGO และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการที่จะก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา จะต้องเสนอต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอต่อไปยังสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และมีหน่วยตรวจสอบดูแลที่มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันได้ปรับแนวทางการออกแบบเป็นโครงสร้างป้องกันรูปแบบผสมผสานที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมตามมาตรฐานวิชาการเพิ่มการเสริมทรายชายหาดหน้าเขื่อน ซึ่งจะใช้แทนโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะที่มีขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมีความสวยงามตามหลักวิศวกรรม ดังนั้น การยุติบทบาทจะส่งผลต่อสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ

สำหรับประเด็น การทบทวนให้นำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งกรมฯ พร้อมจะดำเนินการตามผลการพิจารณาที่ออกมา

Related Posts

Send this to a friend