ENVIRONMENT

“โดรนอนุรักษ์พะยูน” เกาะลิบง สำรวจ-ปกป้องฝูงพะยูนใหญ่ที่สุดในไทย

‘ชัยวุฒิ’ โชว์ “โดรนอนุรักษ์พะยูน” เกาะลิบง สำรวจ-ปกป้องฝูงพะยูนใหญ่ที่สุดในไทย ดูแลญาติพี่น้อง “มาเรียม”

วันนี้ (2 ก.ย. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความสำเร็จโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก่ชุมชนใน อ.กันตัง จ.ตรัง ที่ได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards 2022 (UNPSA 2022) ในสาขาที่ 1 การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อส่งมอบบริการที่ครอบคลุมและมีความเสมอภาคเป็นธรรม เนื่องในวัน United Nations Public Service Day เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565

เป็นการนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการบินสำรวจตำแหน่งและจำนวนของฝูงพะยูน เพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์ แทนการใช้เรือประมงออกตระเวน ระบุพิกัดพะยูนก่อนออกเรือ สอดส่องดูแลในยามกลางคืน เมื่อนำมาใช้แล้วทำให้ประชากรพะยูนมีมากขึ้นเป็น 180 ตัวในปัจจุบันบัน และช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบาทต่อปี เป็นการคืนประชากรพะยูนเกาะลิบง ฝูงพะยูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฝูงเดียวกับ “มาเรียม” พะยูนขวัญใจชาวไทย พร้อมคืนชีวิตให้กับผู้คนบนเกาะลิบงด้วย

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย Thailand 4.0 ของนายกรัฐมนตรี นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่เกาะลิบงเราใช้เทคโนโลยี “โดรน” บินสำรวจพื้นที่ที่พะยูนอยู่อาศัย เฝ้าระวังไม่ให้มีคนไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมายซึ่งจะเป็นอันตรายต่อพะยูน การใช้โดรนบินตรวจทำให้สามารถเฝ้าระวังได้ตลอด สามารถรักษาชีวิตพะยูนไว้ได้ทำให้อัตราการตายลดลงไปมาก รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว โดรนช่วยชี้จุดที่พะยูนอยู่ได้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปดูได้เลยไม่เสียเวลาและปลอดภัยต่อพะยูน ทำให้ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาะลิบงมากขึ้น วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลระดับประเทศและระดับโลก

โดยหลังจากนี้ นายชัยวุฒิ ยังมีนโยบายการใช้เทคโนโลยีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆอีก เช่น การใช้โดรนตรวจพื้นที่ป่า ใช้โดรนตรวจการกัดเซาะชายฝั่งหรือสำรวจแนวปะการัง และในอนาคตจะนำโดรนที่ทันสมัยขึ้นมาตรวจหญ้าทะเลใต้ทะเล ที่เป็นแหล่งอาหารหลักของพะยูนรอบเกาะลิบงด้วย ทำแผนที่ของหญ้าทะเลทั้งหมดเพื่อวางแผนอนุรักษ์พื้นที่หญ้าทะเลให้พะยูนมีแหล่งอาหารที่เพียงพอเหมาะแก่การขยายพันธุ์ เพราะที่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นพื้นที่ที่พบพะยูนมากที่สุด คือ 180 ตัว จากทั้งหมดในประเทศที่มีพะยูนอยู่ราว 200 ตัว นอกจากนี้หญ้าทะเลยังเป็นพืชที่ดูดซับ Blue Carbon ให้ออกซิเจนกับโลกได้

ด้าน ยุทธนา สารสิทธิ์ ชาวบ้านเกาะลิบง ผู้มีใบอนุญาตบังคับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) กล่าวว่า เมื่อหญ้าทะเลและพะยูนอยู่รอด ชาวลิบงก็อยู่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องช่วยกันอนุรักษ์พะยูน “โดรน”จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยหนุนเสริมการอนุรักษ์ได้อย่างดี เพราะได้ใช้ลาดตระเวนดูพะยูน ตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย

“…พะยูนเป็นสัตว์คู่เกาะลิบง บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่นี่ ถ้าพะยูนยังอยู่แปลว่าหญ้าทะเลยังอยู่ การมีโดรนสำรวจทำให้อัตรการตายของพะยูนน้อยลง เหมือนกำลังได้ดูแลญาติๆของมาเรียม พะยูนที่ทำให้เกาะลิบงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นพะยูนฝูงสุดท้ายที่เยอะที่สุดในประเทศไทย…” ยุทธนา กล่าว

เรื่อง : ทศ ลิ้มสดใส

Related Posts

Send this to a friend