“มองแล้วถ้าเทียบกับความเป็นจริง มันก็ยังไม่สมเหตุสมผล ทุกหมู่บ้านมีต้นไม้ เป็นสวน เป็นไร่ เป็นเรือนชานบ้านช่อง มันจะต้องมีการชดเชยทั้งหมด แต่ว่าในการชดเชยนั้นมันก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เดี๋ยวนี้บางบ้านก็ตกลงกันได้ บางบ้านก็ยังตกลงกันไม่ได้ เราเองยังได้รับผล กระทบ แต่ว่ายังตกลงกันไม่ได้” เจ้าหน้าที่โครงการสร้างบ้านในแปลงอพยพรายหนึ่ง กล่าว
เขากล่าวด้วยว่าสาเหตุที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจค่าชดเชยนั้น เพราะกรรมการจะจ่ายค่าชดเชยต้นผลไม้ในราคาเพียง 5,000– 10,000 กีบ (ประมาณ 20-40 บาท) ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ที่ชาวบ้านปลูกไว้ มีราคาเพียง 12,000 -15,000 กีบ (50-60 บาท) ทั้งๆ ที่ต้นไม้ทั้งหมดนั้น ประชาชนใช้เวลาปลูกนับ 10 ปี ส่วนบ้านใหม่ที่สร้างให้นั้น ใช้เกณฑ์จ่ายให้ตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เช่น หากครอบครัวใดมีสมาชิก 3 คน ได้บ้านขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่ครอบครัวขนาดเล็กหลายครอบครัว มีบ้านเดิมหลังใหญ่ เพราะลูกหลานที่ไปทำงานต่างแขวงส่งเงินมาให้
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเขื่อนน้ำอู 3 ที่มีประชาชนถูกโยกย้ายจำนวน 5 หมู่บ้าน ในเขตเมืองงอย แขวงหลวงพระบาง เช่น บ้านหาดสา บ้านหาดขาม และบ้านสบขิง ปัจจุบันนอกจากระบบโครงสร้างน้ำอุปโภคบริโภคไม่ได้มาตรฐาน ทางโครงการก็ไม่ยอมสร้างวัดแห่งใหม่ตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง บริษัทรับเหมาช่วงของบริษัทไซโนไฮโดร ยังไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้ประชาชนบ้านสบขิง จำนวน 60 คนอีกด้วย หลังจากที่บริษัทจ้างให้ชาวบ้านเข้าไปทำงานหน้าเขื่อนในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมที่ผ่านมา