DEEPSOUTH

คณะพูดคุยฯ บรรลุแผนสร้างสันติสุขชายแดนใต้แบบองค์รวม (JCPP)

หากสำเร็จตามกรอบ พร้อมเจรจาหยุดยิงในเดือน ก.ค.นี้ เผยผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนใหม่ เตรียมลงพื้นที่สิ้นเดือนนี้

วันนี้ (24 ก.พ. 66) ที่ห้องมณฑาทิพย์ 1 โรงแรมอนันตรา สยาม ถนนราชดำริ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงข่าว และเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนซักถาม ถึงการพบหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในวันที่ 21 และ 22 ก.พ. 2566 ระหว่าง คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ นำโดยพลเอกวัลลภ รักเสนาะ และคณะผู้แทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN) นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ซึ่งมีพลเอกตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ผลการพูดคุยฯ มีความคืบหน้าที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ไขความขัดแย้งและนำสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

1.คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทน BRN เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติ

ตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ 1.) การลดความรุนแรงในพื้นที่ 2.) การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง

2.คู่พูดคุยเห็นชอบกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และ 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งและนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

3.คู่พูดคุยได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายนัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้น และนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
เพื่อเริ่มต้นขั้นการปฏิบัติต่อไป

4.คู่พูดคุยต่างแสดงความยินดีต่อผู้อำนวยความสะดวกในโอกาสเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงานของตันศรี ซุลกีฟลีฯ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้คู่พูดคุยบรรลุความเห็นพ้องเบื้องต้นเกี่ยวกับ JCPP ในการพูดคุยฯ ครั้งนี้ และจะมีส่วนช่วยให้การจัดทำและการปฏิบัติ
ตาม JCPP ในระยะต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่นตามกรอบเวลา

พลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า การบรรลุ JCPP เป็นการต่อยอดและเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง ที่มุ่งมั่นดำเนินการลึกลงไปในรายละเอียด ว่าจะทำอะไรร่วมกันกับคณะ BRN เพื่อก้าวไปสู่สันติสุขอย่างถาวร โดยการทำงานใน JCPP จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนของการลดความรุนแรง 2. ส่วนของการหาทางออกทางการเมือง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งเป้าหมายในการทำงานด้าน JCPP ของฝ่ายไทย พลเอกวัลลภ กล่าวว่า หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมาร่วมมือกันเพื่อหาข้อตกลง หรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ อันนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน โดยหวังว่าจะร่วมกันจัดทำแผนงานต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นในช่วงต้นของการทำงาน คือเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน

ซึ่งหากแผน JCPP สำเร็จตามกรอบในเดือนมิถุนายนปีนี้ได้ คณะพูดคุยฝั่งไทยยินดีเจรจาเพื่อหยุดยิง เข้าสู่กระบวนการพูดคุยหาทางออกร่วมกันกับทุกฝ่ายต่อไป รวมถึงมีแผนจะเชิญกลุ่มอื่นๆร่วมวงพูดคุยด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคู่พูดคุยด้วย แต่ทางการไทยยืนยันพร้อมคุยกับทุกกลุ่ม

พลเอกวัลลภ กล่าวถึง นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ว่า นายอันวาร์ มีเจตจำนงที่จะสนับสนุนให้เกิดสันติภาพ ไม่อยากเห็นความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมอบหมายให้พลเอกตันศรี ดำเนินการตามนโยบายในการผลักดันให้กระบวนการสันติภาพดำเนินต่อไป

นายซูกริฟฟี ลาเตะ จากองค์กร The Patani กล่าวว่า จากการพูดคุยฯ ทั้งหมด 6 ครั้ง เกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมประชาชน 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือช่วงส่งตัวชาวปัตตานีที่อยู่ในมาเลเซียกลับมา 2 คน ครั้งที่สองคือการยิงน้องชายของผู้ที่อยู่ในคณะพูดคุยฝ่าย BRN และครั้งที่สาม เป็นครั้งล่าสุด เพิ่งเกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยฯ ครั้งที่ 6 ที่มาเลเซีย ก็เกิดการวิสามัญฆาตกรรมขึ้นอีก ซึ่งเป็นบรรยากาศของการสูญเสีย ไม่ใช่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

พลเอกพัลลภ ชี้แจงว่า เชื่อว่าทุกฝ่ายอยากให้เกิดบรรยากาศที่ส่งเสริมต่อการพูดคุยฯ ไม่ได้อยากให้เกิดความรุนแรง ซึ่งการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการพูดคุยฯ เป็นกระบวนการตามปกติของรัฐบาล และกรณีการยิงน้องชายของผู้ที่อยู่ในคณะพูดคุยฝ่าย BRN น่าจะเกิดจากปัญหาส่วนตัว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงโครงสร้างของคณะพูดคุยฯ ว่าจะมีการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมกับ JCPP มากขึ้นหรือไม่ ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือภาคการเมือง พลเอกพัลลภ กล่าวว่า ในส่วนของการทำแผน คู่พูดคุยซึ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักในการรับข้อมูลจากประชาชนเพื่อนำเข้าไปสู่กระบวนการพูดคุยฯ ที่โต๊ะ เพื่อหารือกัน และ ในส่วนของการปรึกษาหารือสาธารณะ ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะหลายประเด็นต้องนำความคิดเห็นจากประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการยอมรับในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่อยู่ใน JCPP แต่ในพื้นที่กลับพบการดำเนินคดีกับผู้ที่แต่งชุดท้องถิ่นมลายู ซึ่งเป็นความย้อนแย้ง พลเอกพัลลภ กล่าวว่า จะรับฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น จะนำไปพิจารณาและดำเนินการต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายความมั่นคงจะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร ในระหว่างที่กำลังดำเนินงานด้าน JCPP พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็พยายามปรับตัวและลดการใช้กฎหมายเพื่อความมั่นคงมาโดยตลอด หากย้อนกลับไปดูการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ จะพบว่าเลือกใช้เพียงแค่บางมาตรา อีกทั้งยังกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

“ในเรื่องของความมั่นคง ไม่อยากให้มองเจ้าหน้าที่ในเชิงการปฎิบัติการทางทหาร แต่อยากให้มองว่าเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ปัจจุบันมีการใช้กำลังทหารจริง ๆ น้อยมาก เช่น กำลังประจำถิ่น กำลังภาคประชาชนบางส่วน รวมถึงกำลังตำรวจ ที่มาช่วยในการดูแลพื้นที่” พล.ต.ปราโมทย์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะพูดคุยฯ เผยว่า ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนใหม่ พลเอกตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟี ไซนัล อะบิดิน จะเดินทางลงพื้นที่ในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ด้วย

Related Posts

Send this to a friend