DEEPSOUTH

ประชาชนชายแดนใต้ส่งเสียง ถูกละเมิดสิทธิหลังรัฐใช้กฎหมายพิเศษยาวนานกว่า 18 ปี

ประชาชนชายแดนใต้ส่งเสียง ถูกละเมิดสิทธิหลังรัฐใช้กฎหมายพิเศษยาวนานกว่า 18 ปี ชี้สันติภาพควรพูดผ่านเวทีการเมืองมากกว่าการทหาร ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง หวังเลือกตั้ง 66 ได้รัฐบาลประชาธิปไตยมาเปลี่ยนแปลง

วันนี้ (24 ก.พ. 66) ที่ Social Innovation Hub สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) Amnesty International (แอมเนสตี้) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาสาธารณะ ‘การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 และสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้’ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมาย นำเสนอข้อเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในบริบทของการเลือกตั้งในปี 2566 โดย รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เปิดและแนะนำการเสวนา

สรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ทั้ง สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP), องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP), เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD), The Patani, องค์กรผู้หญิงปัตตานี (PERWANI), กลุ่มด้วยใจ (Duayjai Group), มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Centre Foundation), องค์กรเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation

นายรักชาติ สุวรรณ ประธาน B4P กล่าวว่า พบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา คือ การเจรจากับสถานการณ์ในพื้นที่ไม่สอดคล้องกัน มีการปิดล้อมตรวจค้น การวิสามัญฆาตกรรมขณะดำเนินเวทีพูดคุยสันติภาพ และชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงรอบด้าน จึงเสนอให้การเจรจาพูดคุยควรมีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ควรมีความเป็นกลาง มีนักกิจกรรมทางการเมืองเป็นตัวกลางในการสังเกตการณ์ และเพิ่มกลไกรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญนอกเหนือจากหน่วยงานความมั่นคง สื่อสารอย่างสันติภาพไม่มีการชี้นำ เพราะในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ทหารสื่อสารอย่างชี้นำ เช่น กรณีทหารนำพระภิกษุเข้าไปสอนในโรงเรียนตาดีกา

นางสาวแวซง บาเน็ง ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า พบปัญหาประเด็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หลังบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดภาคใต้มายาวนานกว่า 18 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งกฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน การจับกุมโดยไม่มีหมายจับนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกจับกุมถูกคุมตัวเป็นระยะเวลาถึง 37 วัน เพราะใช้อำนาจกฎอัยการศึกควบคุมตัว 7 วัน และขออำนาจควบคุมต่อด้วยพรก.ฉุกเฉินอีก 30 วัน นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจปิดล้อมตรวจค้นในยามวิกาลโดยไม่มีการแจ้ง หรือแยกสตรี เยาวชน ออกจากพื้นที่ปิดล้อม การใช้พลเรือนนำค้น โดยให้ญาติหรือผู้นำศาสนาเป็นผู้กระทำแทนเจ้าหน้าที่ หากเกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับโทษ

“มีการใช้พยานบอกเล่าที่ได้มาจากกระบวนการตามกฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งได้มาจากการถูกควบคุมตัวด้วยการทรมาน รวมถึงการตั้งหลักทรัพย์ประกันตัวในคดีความมั่นคงที่สูงถึง 800,000 บาท รวมถึงต้องใส่กำไล EM อีกด้วย” นางสาวแวซง กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวแวซง ยังเสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รวมถึง พ.ร.บ. ความมั่นคง

นายอัยยุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการ CAP กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายที่บังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ผ่านยากมาก แต่กฎหมายที่บังคับใช้กับประชาชนบังคับใช้ได้ง่ายมาก ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 7,000 คน ผู้บาดเจ็บกว่า 13,000 คน และเหตุการณ์ยังคงมีความต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สูงขึ้น

นายอัยยุบ กล่าวเพิ่มเติมว่า 5 ปีที่ผ่านมา สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนก็ถูกปิดกั้นมากขึ้น หลายครั้งประชาชนถูกคุกคาม ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ จึงเสนอว่าต้องมีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งต้องมาจากรัฐบาลประชาธอยาก ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการ

นางสาวบุสรอ ยะลาแป ตัวแทนจาก PERWANI กล่าวว่า จากผู้เสียชีวิตทั้ง 7,000 คน ที่นายอัยยุบกล่าวมา ก่อให้เกิดปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวมากกว่า 3,000 ราย ซึ่งนอกจากจะได้รับผลกระทบทางจิตใจแล้วยังต้องเป็นเสาหลักของครอบครัวแทนสามี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาเด็กกำพร้า เด็กเหล่านี้ต้องเติบโตท่ามกลางความรุนแรง เห็นอาวุธปืน ระเบิด เป็นเรื่องปกติ เขาจะเติบโตโดยถูกหล่อหลอมด้วยความรุนแรง ซึ่งผิดปกติหากเทียบกับเด็กในพื้นที่อื่น ๆ จึงเสนอให้มีนโยบายที่สนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขคนแรกของรัฐไทย กล่าวว่าการเลือกตั้งและสิทธิมนุษยชนมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด สิทธิมนุษยชนจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง ประชาชนควรเป็นศูนย์กลาง มีส่วนร่วม มีสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดสภาวะแบบนั้นได้ ก็คือต้องไม่มีกฎหมายพิเศษ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย

Related Posts

Send this to a friend