4 มกราคม 2563 ครบ 16 ปีเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จากเหตุการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยสถิติมีผู้เสียชีวิต กว่า 7 พันคน ถือเป็นวิกฤติการณ์ความรุนแรงมากสุดในรอบ 40 ปีของไทย แม้ในปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ลดลง แต่สวนทางกับความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพของประชาชน และจำนวนงบประมาณทางการทหารที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายค้านจะเตรียมนำไปเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้แม้ในปี 2562 เหตุการณ์จะมีน้อยแต่มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งเหตุสังหารหมู่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ที่ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ทำให้พลเเรือนเสียชีวิต 15 คน และเหตุประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต 3 ศพที่เทือกเขาตะเว อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งการวิสามัญฆาตกรรมที่เป็นมาตรการตอบโต้จากรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นด้วยว่า แม้รัฐบาลมีนโยบายการพูดคุยเพื่อสันติสุขและมาตรการทางการทหารเพื่อลดความรุนแรง อาจทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และจำนวนผู้สูญเสียที่มากกว่า 7 พันคน 16 ปีที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตการณ์ความรุนแรงมากสุดในรอบ 40 ปีของไทย นับจากการสิ้นสุดการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ที่ยังต้องให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวาระแห่งชาติ
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบด้วยว่า 16 ปีที่ผานมารัฐทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท หากเทียบกับจำนวนความสูญเสียทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 2 หมื่นคน กับจำนวนงบประมาณแล้วยังสวนทางกัน ยิ่งในช่วง 6 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการใช้งบประมาณ 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท จึงต้องทบทวนการใช้งบประมาณทั้งทางความมั่นคง และการพัฒนา ตอบสนองการสร้างสันติภาพหรือไม่ ในขณะที่ประชาชนยังคาดหวังกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นทางออกการแก้ปัญหาที่แท้จริง ทั้งการพุดคุยกับกลุ่มผู้คิดต่าง การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และทางการเมือง
ครบรอบ 16 ปีเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 โดยที่ตำบลลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา จะมีพิธีทำบุญครบ 50 วันเหตุโศกนาฏกรรมที่ลำพะยา จึงน่าจะเป็นโอกาสในการทบทวนกระบวนการสันติภาพชาชายแดนใต้ 16 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวหรือมีความหวัง ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายค้านเตรียมนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายนี้โดยตรงมา 6 ปีแล้ว
Send this to a friend