DEEPSOUTH

เลขาธิการ ศอ.บต.ยันการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อลดเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ยินดีรับฟังความเห็นกลุ่มคัดค้าน ย้ำรัฐยืนอยู่ข้างประชาชน

เลขาธิการศอ.บต.ยืนยันการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อลดเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทนไม่ได้เห็นคนไทยต้องข้ามฝั่งทำงาน เข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน ยินดีรับฟังความเห็นกลุ่มคัดค้าน ย้ำรัฐยืนอยู่ข้างประชาชน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่อ.จะนะ จ.สงขลา ในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นประเด็นในการออกมาคัดค้านของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งนำโดย น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะนั้น

The Reporters ได้สัมภาษณ์พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ถึงการดำเนินการดังกล่าวถึงที่มาที่ไป และความกังวลที่จะเกิดความขัดแย้งจากการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ให้ข้อมูลว่าการพัฒนาในเขตจังหวัดชายแดนใต้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2559 สำหรับภาคใต้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัญหาที่ทับถมมาในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นรากของปัญหาที่เกิดอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การมีงานทำ การมีรายได้น้อย ส่วนปัญหาที่ฉาบอยู่ด้านหน้าคือปัญหาความไม่สงบที่สังคมทั่วไปรับทราบ สำหรับคนในพื้นที่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างหากที่เป็นเงื่อนไขสำคัญให้รู้สึกว่าอยู่ที่นี่แล้วไม่เท่าเทียมกับผู้อื่น เป็นพลเมืองอีกชั้น ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการศึกษา และสังคม

ส่งผลให้มีประชาชนคนไทยชายแดนใต้ต้องผลัดถิ่น เดินทางไปทำงาน แสวงโชค ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ภาพของปัญหาเหล่านี้ชัดเจน มีคนไทยข้ามพรมแดนธรรมชาติ ข้ามน้ำ ข้ามคลองโก-ลก ยอมให้ถูกจับกุมเพราะเอกสารการเดินทาง และการเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 30,000 คน เป็นที่ประจักษ์ว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังขาดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนต้องเดินทางไปทำงานประเทศเพื่อนบ้านทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจำนวนมาก

ในปีการศึกษาที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาในเขตจังหวัดชายแดนใต้ 28 สถาบัน มีผู้สำเร็จการศึกษาวุฒิปวช. 2,000 คน วุฒิปวส.ประมาณ 3,000 คน ปริญญาตรี 16,000 คนเศษ ปริญญาโทประมาณ 800 คน และปริญญาเอกอีก 100 คน รวมแล้วประมาณ 25,000 คน ไม่มีที่ยืน ต้องกระจายออกไปต่างพื้นที่ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้คือปฐมบทของการพัฒนา

ในปี 2559 คณะกรรมการการประชุมร่วมภาครัฐเอกชน ได้นำเสนอกำหนดเมืองต้นแบบให้ดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน โดยกำหนดไว้ 4 เมือง คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และอ.จะนะ จ.สงขลา โดยเริ่มพัฒนาในสามจังหวัดชายแดนใต้ก่อน เมื่อมีความเข้มแข็งแล้วจึงขยายขึ้นพื้นที่ตอนบน มีมติตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2559 จากนั้นเดือนตุลาคม 2559 มีมติครม.รอบ 2 ให้ขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ 3 เมือง ในขณะนี้มีการพัฒนาไปไกลแล้ว มีคนหลั่งไหลไปเบตง หรือที่หนองจิกก็มีการลงทุนหลายส่วน

จนปลายปี 2560 มีมติให้ศอ.บต.ขยายแผนพัฒนาไปยังตอนบนที่อ.จะนะ จ.สงขลาได้แล้ว ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นแผนที่ออกแบบให้ภาคใต้ต้องมีกลไกที่เป็นอุตสาหกรรม ที่จะรองรับการสร้างงานเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานทั้งหมด เพราะภาคเกษตรไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ ลูกหลานเราไม่สามารถกลับบ้านเกิดเพื่อเป็นเกษตรกรทุกคนได้ ฉะนั้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจึงจะเป็นคำตอบสำหรับเยาวชนในภายภาคหน้า

7 พฤษภาคม 2562 ครม.เห็นชอบในหลักการให้พัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นศูนย์กลางในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ในทุกระบบ และทุกมิติ เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน ในเบื้องต้นที่ทราบแล้วจะมีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางด้านการแพทย์ อุปกรณ์การสื่อสาร อุตสาหกรรมฮาลาล ยางพารา ศูนย์ทางด้านการศึกษา การขนส่งทางทะเล พลังงานสะอาด (Clean Energy) และระบบสุขภาพแบบ Smart City รองรับการบริการด้านสุขภาพให้คนในพื้นที่และคนภายนอกพื้นที่ ซึ่งทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

การพัฒนาดังกล่าวเป็นการพัฒนาในทุกมิติจากด้านเศรษฐกิจ สู่การศึกษา และพัฒนาสังคม โดยทำอย่างครบวงจร เชื่อมโยงกับการผลิตในภาคต้นน้ำ เช่นการเกษตรฐานราก เพื่อเตรียมการผลิตให้เข้าสู่ขั้นกลางน้ำคือการแปรรูปอุตสาหกรรม และปลายน้ำคือการส่งออกไปยังต่างประเทศ

จากวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ครม.มีมติให้ดำเนินการ ทางศอ.บต.ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็น ให้ไปดูงานที่ต่างประเทศและกลับมาทำแผนการพัฒนาของชุมชน เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมจะประกาศเป็นพื้นที่พัฒนา

ในเดือนธันวาคม 2562 ศอ.บต.ดำเนินการประกาศให้อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชายแดนใต้ ตามพ.ร.บ.บริหารราชการภาคใต้ มาตรา 10 ให้ภาคส่วนต่างๆไปทำแผนพัฒนาในอนาคต สร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 10 กลุ่ม เช่น กลุ่มเยาวชน สตรี แม่บ้าน ผู้นำศาสนา กลุ่มการศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประมงชายฝั่ง เป็นต้น ให้ไปสำรวจว่าหากมีการพัฒนา แต่ละภาคส่วนมีความต้องการแบบไหนอย่างไร เพื่อให้วิถีเดิมยังคงอยู่ และวิถีใหม่ก็รองรับ มีกระบวนการทำแบบสำรวจด้วยการเคาะประตูบ้านกว่า 7,000 ครัวเรือน จัดเวทีย่อยในชุมชนกว่า 30 เวที การรับความเห็นในเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ จัดเวทีรับฟังข้อเสนอ ข้อห่วงใย ข้อกังวล เมื่อประชาชนมองเห็นปัญหาที่อาจเกิดจากแผนการพัฒนาของเอกชน ประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับการศึกษา ต้องมีงานทำ มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยอยู่กับวิถีเดิมของประชาชนให้ได้ ศอ.บต.ทำหน้าที่รวบรวมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชายแดนใต้เพื่อเห็นชอบและส่งมอบให้กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ศึกษาเตรียมความพร้อมในส่วนความรับผิดชอบของตน และต้องใช้เวลาอีกเป็นปีเพื่อพิจารณา

เลขาธิการศอ.บต.ย้ำว่า หน้าที่ของศอ.บต คือศูนย์กลางประสานงานให้การพัฒนาเดินหน้า ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาให้พื้นที่ชายแดนใต้พัฒนา คนในพื้นที่มีงานทำในบ้านเกิดของตนเอง ศอ.บต.ทำหน้าที่สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาไปข้างหน้ากับสิ่งที่มีอยู่เดิมต้องไม่ถูกทำลาย เอกชนมาลงทุนต้องได้กำไรและประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง

ขอให้ทุกส่วนเดินหน้า ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ส่วนไหนที่เป็นความกังวลต้องช่วยกัน เราไม่อยากเห็นป่า สวน ถูกทำลายไปทั้งหมด แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็นเช่นกันคือคนไม่มีที่ยืน อันนี้ต่างหากคือภาระของเรา พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูรกล่าวย้ำอีกครั้ง

ด้านประเด็นที่สังคมเข้าใจว่าเมื่อมติครม.แล้ว ก็จะมีงบลงไปพัฒนาเลยนั้น เลขาธิการศอ.บต.ปฏิเสธและชี้แจงว่า ครม.เพียงเห็นชอบในหลักการเท่านั้น ยังไม่มีงบก่อสร้างหรือพัฒนาทันที มีเพียงงบจัดประชุมและงบศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น และงานวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ยังไม่ใช่การดำเนินการปรับผังเมืองโดยทันที ต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนอีกจำนวนมาก พิจารณาจากระดับจังหวัด ระดับกระทรวงมหาดไทย การนำเสนอในวันที่ 11 เป็นการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาโดยสังเขปจากเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้มองเห็นการพัฒนาในวันข้างหน้า ขอให้ทุกคนช่วยกันตรวจสอบและนำเสนอข้อคิดเห็นเพื่อหาข้อตกลงร่วมที่ดีที่สุด

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในการพัฒนาพื้นที่ เลขาธิการศอ.บต.กล่าวว่า ต้องเริ่มทำความเข้าใจและรับฟังซึ่งกันและกัน ว่าความกังวลอยู่ที่จุดไหน พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ขอให้เดินไปข้างหน้า ย้ำว่าคนที่ไม่เห็นด้วยไม่ใช่ศัตรูของบ้านเมือง รัฐไม่ใช่ศัตรูของประชาชน รัฐคือศูนย์กลางที่จะช่วยผลักดัน แก้ไข และพัฒนาพื้นที่ “เราต้องยืนอยู่ข้างประชาชน”

ฟัง The Reporters สัมภาษณ์ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.)

Related Posts

Send this to a friend