DEEPSOUTH

เผยกรณีการยื่นหนังสือถึงแม่ทัพภาค 4 ให้คลี่คลายสถานการณ์ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หวั่นเกิดเหตุรุนแรง

วันนี้ (10 ก.ค. 63) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลา ว่า กลุ่มเครือข่ายพิทักษ์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สภาประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายประชาชน จชต.ปกป้องสิทธิชมุชนและสิ่งแวดล้อม และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา จะเข้าพบ พลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อยื่นหนังสือ ขอความร่วมมือให้แม่ทัพภาค 4 ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดจากกรณีปัญหา ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ แต่แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ และไม่มีการเข้าพบแม่ทัพภาค 4 ตามที่ได้กำหนดไว้

โดยนายตูแวนิยา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา พร้อมด้วยนายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้แถลงการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อชี้แจง ข้อความในหนังสือที่จะทำการยื่นให้กับแม่ทัพภาค 4 ดังนี้

นายตูแวนิยา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้ยกเลิกกำหนดการที่จะยื่นหนังสือให้กับทางแม่ทัพภาค 4 เนื่องจากหลายฝ่ายเกิดความไม่สบายใจ โดยประเด็นสำคัญในหนังสือนั้น สืบเนื่องจากมีกลุ่มมวลชน ที่ไปประท้วงนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เพื่อให้ลาออก โดยให้เหตุผลว่า นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง แต่กลับไปมีบทบาทในการร่วมคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทำให้ประชาชนที่อยู่เคียงบาเคียงไหล่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม และหากปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้น ก็อาจจะสร้างความเคลือแคลงใจให้กับประชาชนที่ให้การสนับสนุนนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และในวันที่ 11 กค.63 ก็จะมีการจัดตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทั้งกลุ่มผุ้คัดค้านโครงการ และกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งอาจจะเกิดความตึงเครียด และเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งหลายฝ่ายก็ไม่อยากที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

“ทั้งนี้ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคง ภายใต้กฎหมายพิเศษ ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงเป็นที่มาที่ไปของการยื่นหนังสือถึงแม่ทัพภาค 4 เพื่อให้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ โดยในเบื้องต้นนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคมดังที่กล่าวมานั้น มีความต้องการให้ แม่ทัพภาค 4 ช่วยคลี่คลายและยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันพรุ่งนี้ ( 11 ก.ค. 63) เพื่อลดอุณหภูมิความตึงเครียดในพื้นที่ และเปลี่ยนไปเป็นการเริ่มต้นกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และมีส่วนร่วมพร้อมทั้งความพอใจของทุกฝ่าย จะดีกว่า” นายตูแวนิยา ตูแวแมแง กล่าว

ด้าน นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็พยายามขอให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่ให้มีการใช้อำนาจทางความมั่นคงใดๆ กับกรณีที่จะเกิดขึ้นกับเวทีแสดงความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ และอยากให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหา ฝ่ายที่คัดค้าน กลุ่มภาคประชาสังคม หรือประชาชนที่อยู่ในฝ่ายคัดค้าน ว่าเป็นกลุ่มของบีอาร์เอน เพราะการกล่าวหาเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้อีกฝ่ายตกเป็นแนวร่วมมุมกลับ ซึ่งค่อนข้างที่จะอันตรายต่อคำกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างมาก และต้องการให้ยุติการคุกคามของกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วย และสิ่งสำคัญสำหรับการชุมนุมในเวทีรับฟังความคิดเห็นพรุ่งนี้ คือไม่ให้มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะหากมีการบังคับใช้แล้วจะทำให้มองว่า รัฐใช้อำนาจมากเกินไป

นายรักชาติ สุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้มีการติดต่อประสานงานที่จะให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ได้มีการเข้าพบปะหารือกับเลขาธิการ ศอ.บต.เมื่อวันที่ 7 ก.ค.63 ที่ผ่านมา ซึ่งในความคิดเห็นโดยส่วนร่วมแล้ว หากมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องถึงปัญหา หรือแนวทางการยุติปัญหา ก็อาจจะลดความเร้าร้อนของกลุ่มมวลชนในพื้นที่ได้ สำหรับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันพรุ่งนี้ หากทั้งสองฝ่ายไม่เปิดใจรับฟังกัน ก็อาจจะส่งผลไปสู่การเกิดความรุนแรงขึ้นได้ และฝ่ายรัฐก็จะถูกมองว่าเป็นชนวนเหตุในการทำให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากฝ่ายรัฐพยายามที่จะจัดเวทีให้ได้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมเปิดใจรับฟัง ก็คิดว่าสถานการณ์น่าจะเป็นไปได้ด้วยดี

ขณะที่ นายตูแวนิยา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กล่าวอีกว่า เนื่องจากพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา นั้นเป็นพื้นที่ ที่มีตัวตนอัตลักษณ์พิเศษ ที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และเมื่อมีการก่อสร้างขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่ ก็อาจจะมีการกระทบวิถีชีวิตของประชาชน ไม่มากก็น้อย แต่ประเด็นสำคัญในตอนนี้ ที่มีข้อพิพาทกันอยู่คือ เนื้อหาของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ ไปยังสาธารณะมากนัก จำกัดเฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงอย่างเดียว แต่จริงแล้วประชาชนในพื้นที่โดยทั่วไปยังไม่รับทราบว่า หน้าตาของนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นอย่างไร มันคืออะไร แล้วชาวบ้านเองจะได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะอย่างไร ไม่ใช่ว่าชาวบ้านหรือภาคประชาสังคมจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่อยากให้การก่อสร้างอุตสาหกรรม มาลิดรอน หรือมาทำลายวิถีชีวิต ซึ่งการพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องได้รับการพัฒนาตามในสิ่งที่ควรจะเป็น

ดังนั้นจึงควรมีพื้นที่กลางในการมาหารือ และทำการบูรณาการไปด้วยกัน และที่เป็นความตึงเครียดในขณะนี้ก็คือ ยังไม่มีพื้นที่กลางในการหารืออย่างชัดเจน เข้าใจว่าภาครัฐต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แต่การชี้แจงเนื้อหาเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐมันยังไม่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ซึ่งรัฐเองต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการไว้วางใจซึ่งกันและกันก่อนจึงจะเดินหน้าไปด้วยกันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเนื้อหาข้อเรียกร้องในหนังสือที่ทางกลุ่มเครือข่ายพิทักษ์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สภาประชาสังคมชายแดนใต้ เครือข่ายประชาชน จชต.ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสำนักปาตานีรายาเพื่อสนติภาพและการพัฒนา จะยื่นให้กับแม่ทัพภาค 4 นั้น ฉบับแรกก่อนการแก้ไขได้มีข้อเรียกร้อง 2 ประเด็นคือ

1.เสนอไห้ยุติเวทีรับฟังความคิดเห็นโดย ศอ.บต.ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 กค. 63 นี้ทันที เพื่อลดหรือระงับเหตุอันอาจเกิดเงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงของภาคประชาชนกับภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าหากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง ไม่เพียงแต่พื้นที่จะนะ พื้นที่เดียวเท่านั้นที่จะกลายป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับขบวนการบีอาร์เอน และกลุ่มขบวมการติดอาวุธอื่นๆ ทั่วทั้งพื้นที่ จชต.ก็จะคุกรุ่นเร่าร้อนไปด้วยความไม่พอใจรัฐอันเป็นต้นทุนหรือเชื้อเพลิงอย่างดีให้กับการเป็นแนวร่วมมุมกลับนั่นเอง

2.หลังจากได้ยุติเวที วันที่ 11 ก.ค. 63 โดยผอ.บต.แล้วนั้น เสนอให้ภาครัฐได้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างพึ่งพอใจและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายเพื่อหาคำตอบต่อการพัฒนาจะนะที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ร่วมกันต่อไป สอดคล้องไปกับนโยบายหหลัก ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ จชต.สืบไป

ส่วนฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้อง ที่จะยื่นให้แม่ทัพภาค 4 ก็คือ

1. ขอเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆ ไม่ใช้อำนาจฝ่ายความมั่นคงใดๆ ต่อกรณีจะนะ

2. ขอให้มีการตรวจสอบต่อกรณีมีการโจมตีฝ่ายคัดค้านเป็นขบวนการ BRN

3. ขอให้ยุติการถูกคามกลุ่มคัดค้านในทุกกรณี

4. ยุติการใช้ พรก.ฉุกฉินต่อผู้ชุมชนทุกฝ่าย

Related Posts

Send this to a friend