ART & CULTURE

บริติช เคานซิล มอบทุน Connections Through Culture 2 ศิลปินไทย

บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินและผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปะและวัฒนธรรม ไปจนถึงหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรม จากประเทศไทยและสหราชอาณาจักรได้ร่วมงานกัน ผ่านการสนับสนุนทุน “Connections Through Culture” โดยในปี 2566 นี้ มีศิลปินไทยได้รับทุนทั้งสิ้น 8 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000,000 บาท ทั้งนี้บริติช เคานซิล ได้เริ่มโครงการทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางศิลปะ มาตั้งแต่ปี 2563 ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีคนไทยได้รับทุนไปแล้ว 24 ทุน มูลค่ารวมกว่า 6,000,000 บาท

โดยจุดมุ่งหมายของทุนคือการสนับสนุนให้ศิลปิน นักสร้างสรรค์ บุคลากร และหน่วยงานในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แลกเปลี่ยนความคิด ได้ค้นพบวิธีการทำงานใหม่ๆ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โครงการที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้มี 2 ศิลปินไทย จากโครงการที่ประสบความสำเร็จ ในการถ่ายทอดผลงานศิลปะวัฒนธรรมอันสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าให้สังคม พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจใหม่ๆให้กับผู้คน

ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “ที่มาโครงการ ‘ปากคลอง Pop up’ ตลาดดอกไม้ปากคลองตลาด หนึ่งในกิจกรรมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ที่ใช้การศิลปะการออกแบบ ภาพถ่าย งานศิลปะจัดวาง และนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อสร้างความตระหนัก เกี่ยวกับวัฒนธรรมของตลาดดอกไม้ที่เก่าแก่ของกรุงเทพฯ ให้คนทั่วไปได้มองเห็นศักยภาพ ที่ซ่อนอยุ่ในย่านปากคลอง โดยการนำดอกไม้สร้างสรรค์เป็นผลงาน ที่ถ่ายทอดความเป็น “ปากคลองตลาด” ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ สร้างภาพจำที่ดูสร้างสรรค์ และร่วมสมัยให้ย่านปากคลองตลาด”

“ซึ่งการสนับสนุนจากทุน Connections Through Culture จากบริติช เคานซิล ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้นได้ รวมถึงการทำงานร่วมกับเพื่อน ที่สหราชอาณาจักร รศ.ดร.คาทาลินา ออทิส ในการสร้างนิทรรศการภาพถ่าย จากสองตลาดดอกไม้ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของตลาดดอกไม้วันอาทิตย์ที่ถนนโคลัมเบีย กรุงลอนดอน และตลาดปากคลอง กรุงเทพฯ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในหลายมิติ ช่วยเติมเต็มและเปิดโลกของนิทรรศการให้กว้างขึ้น นำไปสู่การจุดประกายแรงบันดาลใจระหว่างกันและกัน”

“เราคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยให้สังคมมองเห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์งานด้านศิลปะและวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะผลงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ ไม่เพียงพาเราไปสำรวจย่านปากคลองตลาด โดยการเชื่อมโยงผลงานเข้ากับบริบทในพื้นที่โดยรอบ แต่ยังช่วยหนุนเสริมให้อัตลักษณ์ของย่านโดดเด่นและน่าสนใจขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องด้วยเครื่องมือใหม่ๆ และยังนำไปสู่การช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน เพราะคนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ เป็นวัยรุ่นยุคใหม่ที่สนใจศิลปะ เมื่อมาเดินชมนิทรรศการและถูกใจดอกไม้ ก็จะเลือกซื้อกลับไป เป็นการช่วยกระตุ้นการค้าขายอีกทางหนึ่ง ผลตอบรับในช่วงที่จัดงานแม่ค้าและผู้ขาย ต่างบอกว่ารู้สึกขอบคุณที่มีงานนี้เกิดขึ้น เพราะช่วยให้มีลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น”

ด้าน นวรัตน์ แววพลอยงาม ผู้ก่อตั้งกลุ่มกลุ่มศิลปะชุมชน ‘อีเลิ้ง’ ชุมชนนางเลิ้ง เล่าว่า “ที่มาของโครงการศิลปินพำนักในชุมชน คือต้องการสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชน และสร้างฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ให้หายสาบสูญไปตามกาลเวลา ซึ่งเราพบว่าในประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญ กับคุณค่าของฐานข้อมูลเหล่านี้มากพอ โดยเฉพาะศิลปะระดับชุมชน ที่ซ่อนตัวอยู่ในที่ที่หลายคนอาจมองข้ามไป ทำให้ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่สูญหาย ไปอย่างน่าเสียดายเมื่อไม่มีผู้สืบทอด”

“โดยเลือกบันทึกและนำเสนอข้อมูล มรดกวัฒนธรรมชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นของตัวเองและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบดิจิทัล ชูจุดเด่นของชุมชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้สึกสนุก กับการเสพงานด้านศิลปะดั้งเดิม ในรูปแบบที่ทันสมัย ภายใต้การทำงานร่วมกันของเครือข่ายอีเลิ้ง และศิลปินคุณภาพจากอังกฤษ นอกจากนี้ผลงานความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Buffalo Field หรือเทศกาลสนามควาย ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะประจำปี ของชุมชนนางเลิ้ง ประกอบด้วยการแสดง นิทรรศการศิลปะ และกิจกรรมต่างๆ การได้รับเลือกจาก Connections Through Culture นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเชื่อว่า มีผู้ที่เข้าใจถึงแนวคิด และวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่พยายามสื่อสารไปยังสังคม และมีส่วนสำคัญ ในการเข้ามาช่วยสนับสนุน ให้กระบวนการเกิดขึ้นจริงตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีข้างหน้าที่สังคม จะตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน”

Related Posts

Send this to a friend