ART & CULTURE

ศิลปินไทย-อเมริกัน ฟ้อนล้านนาผสมเต้น ร่วมสมัย เรื่องเล่าสองสายน้ำ ‘โขง-มิสซิสซิปปี’

ศิลปินไทย-อเมริกัน ฟ้อนล้านนาผสมเต้นร่วมสมัย กลางกาดกองเก่า สะท้อนประเด็นสองสายน้ำ ‘โขง-มิสซิสซิปปี’ หวังปลุกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ในโอกาสฉลอง 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ 

วันนี้ (3 ก.พ. 66) สถานเอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับชุมชนอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สถาบันศิลปะการเต้นร่วมสมัย COMPANY | E มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ และกลุ่มสยามพิวรรธน์ จัดแสดงชุดพิเศษ “A Tale of Two Rivers เรื่องเล่าสองสายน้ำ” แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแห่งสายน้ำสำคัญของทั้งสองประเทศ คือ แม่น้ำโขงในประเทศไทย และแม่น้ำมิสซิสซิปปีในสหรัฐอเมริกา เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ณ กาดกองเก่า ใจกลางอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

โดยมี เกว็น คาร์ดโน อัครราชทูตที่ปรึกษาสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย นางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ นายธันวา เหลี่ยมพันธุ์ ประธานสภาวัฒนธรรมเชียงของ ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้อำนวยการโฮงเฮียนแม่น้ำของ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เจ้าของรางวัล Goldman Environmental Prize พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนจากสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมในพิธีการความร่วมมือฯ

เวลา 17:30 น. การแสดงเริ่มต้นขึ้นกลางกาดกองเก่า โดยมี นางสาวแววดาว ศิริสุข ศิลปินด้านศิลปะการแสดงล้านนาร่วมสมัยชาวจังหวัดเชียงราย ทำการแสดงร่วมกับเยาวชนชาวเชียงของ และศิลปินจากสถาบัน COMPANY | E ท่ามกลางเสียงดนตรีจากวง The Two Rivers Blues Band นำโดย Amikaeyla Gaston นักร้องชนพื้นเมืองลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี ดึงดูดความสนใจชาวบ้านและนักท่องเที่ยวในกาดกองเก่าถนนคนเดินที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอเชียงของ ซึ่งเปิดทำการเป็นประจำทุกเย็นวันศุกร์

การแสดงดังกล่าวบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์และความยิ่งใหญ่ของทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงและแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งเปรียบเสมือนสายเลือดสำคัญของทั้งสองแผ่นดิน ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏโครงการพัฒนาที่สร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแม่น้ำใหญ่ดังกล่าว ที่เหล่านักแสดงหวังว่าศิลปะจะช่วยสื่อสารไปถึงผู้ชมให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์แม่น้ำในภูมิภาคตนเอง

นอกจากกาดกองเก่าจะถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชนแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับฉายภาพยนตร์ฝีมือเยาวชนเชียงของ ตลอดจนการแสดงดนตรีกลางแจ้ง เบื้องหน้าประติมากรรมปลาบึกเชียงของริมแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวบ้านที่พากันนำเสื่อมาปูนั่งฟังและรับประทานอาหารในขันโตกถึงเวลากลางคืน

“นี่ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-สหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปีนับแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแสดงที่เกิดขึ้นคือการบอกเล่าถึงสภาพและประเด็นสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งดิฉันคิดว่าพวกเขาสามารถสื่อสารไปถึงทุกท่านได้สำเร็จ ถือเป็นการพิสูจน์ว่าเมื่อชาวไทยและชาวอเมริกันร่วมมือกัน สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามขี้นมาได้” อัครราชทูตที่ปรึกษาสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าว

“พวกเรารู้สึกยินดีและชื่นชมที่ได้เห็นการแสดงดนตรี และศิลปะสื่อผสมที่เปี่ยมไปด้วยความหมายถึงการเชื่อมสายน้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในค่ำคืนนี้” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าว

ทั้งนี้ การแสดงชุดพิเศษดังเช่นที่เกิดขึ้นเย็นนี้ จะยังจัดในวันพรุ่งนี้ (4 ก.พ. 66) อีกหนึ่งวัน พร้อมกับกิจกรรมคู่ขนานของชาวบ้านเชียงของ Chiang Khong Music Festival: For the Love of the Rivers ภายใต้แนวคิด “รักแห่งสายน้ำ” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้อีกด้วย

เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : Thai News Pix

Related Posts

Send this to a friend