PUBLIC HEALTH

เสียงจากฝั่งการศึกษาถึงรัฐ ปิดเรียนแบบภาพรวมกระทบหนัก “อยากให้ฟังเสียงเราบ้าง”

ผลกระทบจากโควิด-19 เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่เด็ก และเรื่องการศึกษา การที่รัฐให้ความสนใจกับการสาธารณสุข และสุขภาพอนามัยของประชาชนควบคู่ไปกับเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษายังอยากส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจว่าให้ “ฟังเสียงพวกเราบ้าง” พร้อมสะท้อนปัญหาออกมาดังๆ ว่าการปิดเรียนแบบภาพรวมไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง หากมีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ และการควบคุมโรคไปยังส่วนท้องถิ่นได้ ก็น่าจะมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับโรงเรียนไปได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงควรมีการเยียวยา หรือสนับสนุนอย่างเต็มที่กับสถานศึกษา และครู  โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงานเสวนาวิชาการ “โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา?” โดยมีนักวิชาการด้านการศึกษา ครู นักเรียน ร่วมกันส่งเสียงสะท้อนปัญหา และมุมมองเกี่ยวกับการสั่งปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยใช้หลักการเดียวกันไม่แบ่งแยกพื้นที่เฉพาะหรือมองถึงความจำเป็นเฉพาะแต่ละพื้นที่ รวมถึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อนจากในพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐใช้อำนาจสั่งปิดโรงเรียนทันทีแบบภาพรวมทั้งประเทศ ไม่แบ่งแยกพื้นที่ หรือพิจารณาจากความจำเป็นของพื้นที่แต่อย่างใด ที่สำคัญคือไม่เคยมีการฟังเสียง เด็ก โรงเรียน และสถาบันเลย รวมถึงไม่มีมาตรการเยียวยาต่างๆ ให้กับโรงเรียน และนักเรียน ทั้งที่การระบาดทั้ง 2 ระลอกทำให้ต้องหยุดเรียนไปแล้วรวมกว่า 90 วัน และการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ

“หากเป็นไปได้ อยากเสนอให้มีการสนับสนุนด้านการศึกษาใน 45 วันแรกหลังการเปิดเทอม จะเรียกว่าโรงเรียนชนะ หรือเด็กชนะ สอนให้เด็กเรียนรู้การอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ในวิชาเรียนต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กควรได้รับการสนับสนุนเรื่องต่างๆ อาทิ นวตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเหลือการเรียนการสอน ช่วยเรื่องอาหาร เช่น อาหารเช้าสำหรับเด็ก และสนับสนุนครู และโรงเรียนด้วยการหาบัณฑิตอาสาสมัครมาช่วยครูเพิ่มเติม เพื่อรักษาคุณภาพทางการศึกษาไว้ให้ได้มากที่สุด” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการวัดผลการศึกษา ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเวลาเรียน หรือจำนวนชั่วโมงเรียน แต่เป็นการวัดผลการศึกษาของเด็กในแง่คุณภาพตามความเป็นจริง เนื่องจากมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจของครอบครัว ความเป็นอยู่ ไปจนถึงด้านโภชนาการที่เด็กไม่ได้รับอาหารเพียงพอระหว่างที่ปิดเรียน ทำให้เเมื่อเปิดเทอมใหม่อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. นี้ จะพบกับเด็กจำนวนมากที่มีปัญหาทุโภชนาการเมื่อเปิดเรียน และส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงเป็นงานหนักสำหรับครู และโรงเรียนในการจัดการปัญหาดังกล่าวด้วย

โรงเรียนไม่ใช่ที่แพร่โรค และอาจจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่าการให้เด็กอยู่บ้าน แล้วออกไปเล่นในชุมชนเสียด้วยซ้ำ

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จ.เรียงราย ที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูง และถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 มีเสียงสะท้อนมาจากโรงเรียนบนพื้นที่สูงว่า บางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน การใช้คำสั่งเดียวอาจไม่ถูกต้องนัก เพราความจำเป็นของแต่ละชุมชนหรือแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ส่วนในแง่การจัดการเรียนการสอนระหว่างที่มีการปิดเรียนนี้ ส่วนใหญ่เน้นทีการทบทวนความรู้มากกว่าการเรียนเพิ่มเติม ส่วนเรื่องการสนับสนุนด้านงบประมาณในการทำงาน และการจัดทำชุดการเรียนการสอนมาจากทั้งงบฯ ที่ได้รับการจัดสรร และการสนับสนุนจากภาคเอกชน และประชาสังคม

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จ.เรียงราย ที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูง และถิ่นทุรกันดาร

“หากสามารถนำเสนออะไรไปยังผู้มีอำนาจได้ อยากเสนอให้ไม่ใช้คำสั่งเดียวกับทุกโรงเรียน ควรให้โรงเรียนได้ออกแบบเฉพาะของตัวเองตามความจำเป็น เพราะโรงเรียนและชุมชนเองก็ไม่ได้อยากให้เกิดการแพร่ระบาด และต้องป้องกันตัวเองอยู่แล้ว และควรมีการสนับสนุนให้มีการออกแบบ Learning Package ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการสอนของครู เช่นการจัด Boxset การเรียนรู้ให้เหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนโดยไม่ได้ใช้โรงเรียนเป็นฐานในช่วงที่มีการปิดโรงเรียน รวมถึงอยากฝากไปยังเพื่อนครูว่า ขอให้ปรับวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสม เชิงรุก และไม่หยุดการออกแบบรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม สร้างเครื่องมือในการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเหมาะสมได้” ดร.ศุภโชค กล่าว

เสียงสะท้อนจากนักเรียนในโรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดโควิด-19 จำนวน 1 คน และมีการปิดโรงเรียนมาแล้วเกือบ 1 เดือน “น้องแงอู” จากเขาดินวิทยาคาร แสดงความคิดเห็นว่า ระหว่างปิดเรียน ต้องศึกษาเอง ยังคงตั้งใจเรียนอยู่ แต่ก็ไม่ได้ความรู้เท่ากับการที่มาโรงเรียน ด้านอาหารการกินก็ไม่ค่อยสมบูรณ์เหมือนกับช่วงที่เปิดเทอม ในขณะที่ “น้องวราภรณ์” โรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ ในสมุทรสาคร พื้นที่ควบคุมสูงสุดที่ยังคงมีคำสั่งปิดต่อเนื่องไปอีก กล่าวว่าในช่วงที่ปิดเรียนแบบนี้ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ยังดีที่โรงเรียนได้จัดสรรความรู้ให้ได้เรียนที่บ้านพอได้ความรู้อยู่ และมีกล่อง black box จาก กสศ.ให้ช่วยเหลือบรรเทาได้ แต่ก็ไม่เหมือนกับการไปโรงเรียน

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าจากการปิดโรงเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะ Learning Loss ในช่วงการเรียนแบบทางไกลจะเกิดแบบไม่สมดุล เช่น กลุ่มเด็กยากจน กลุ่มด้อยโอกาสจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มเด็กที่มีเศรษฐฐานะที่ดีกว่า ยิ่งเด็กยากจนก็ยิ่งมีโอกาสที่จะหลุดจากระบบการศึกษามากว่าเด็กกลุ่มอื่น งานวิจัยในสหรัฐอเมริกายังพบว่าเด็กที่สามารถเรียนแบบออนไลน์ได้ดีในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือเด็กที่เรียนในห้องเรียนได้ดีอยู่แล้ว  แต่เด็กกลุ่มระดับกลาง หรือระดับล่างในห้องเรียน เมื่อเรียนออนไลน์ ก็จะเกิด Learning Loss ที่รุนแรง ทำให้ยิ่งถูกทิ้งห่าง​ ​ที่สำคัญความน่ากลัวอยู่ตรงที่เมื่อปลายปีที่แล้ว ธนาคารโลกได้มีรายงานว่าประเทศไทยช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ก็มีสถานการณ์ Learning Poverty หรือสภาวะความยากจนของการเรียนรู้อยู่แล้ว ประมาณ 23% คือในเด็กไทยอายุสิบขวบ 100 คน มีเด็กที่ไม่สามารถอ่านเขียนได้คล่องถึงประมาณ 20 คน เทียบกับเด็กมาเลเซีย 13 คน สิงค์โปร์ 3 คน หรือเด็กเวียดนาม 2 คน เมื่อเกิดโควิดก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ Learning Poverty ของประเทศแย่ลงกว่าเดิม ​อันจะนำไปสู่ความสูญเสียของทรัพยากรมนุษย์ของเขาและรายได้อนาคต คุณภาพชีวิต รวมไปถึงระดับความเจริญทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ภูมิศรัณย์  กล่าวว่า สำหรับทางออกของปัญหา ยกตัวอย่างจากบทเรียนในต่างประเทศที่มีหลายแห่งซึ่งมักให้ความสำคัญกับเด็กเล็ก เด็กที่มีความต้องการพิเศษก่อน และมักจะมีการจัดให้เด็กได้มาเรียนกับครูจริง ๆ ​โดยใช้มาตรการ “โซเชียล ดิสแทนซิ่ง” ในต่างประเทศจะมีการลงทุนตรวจคัดกรองครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่พบการติดเชื้อ ในขณะที่ของไทยมักจะทำเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น  นอกจากการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอแล้วในหลายประเทศมีการจัดห้องเรียนเป็นกลุ่มเล็ก  ๆ  โดยนำเด็กและ ครู ที่ผ่านการคัดกรองแล้ว มาเรียนเป็นกลุ่มประมาณ  10-15 คน  เรียกว่า Learning Pod เรียนโดยไม่ไปปะปนกับกลุ่มอื่น ซึ่งมีทั้งพ่อแม่จ้างครูมาช่วยสอน ภาครัฐเข้ามาช่วยจัดการ ไปจนถึง NGO อาสาสมัครไปช่วยสอนตามชุมชน ซึ่งทำให้อย่างน้อยเด็กได้เจอกับเพื่อน ๆ หรือครูจริง ๆ

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม หนึ่งในเครือข่าย โครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) กล่าวว่าปัญหาในการเรียนที่บ้าน คือผู้ปกครองหลายๆ คนไม่สะดวกในการสอนเด็กๆ แม้จะมีการเตรียมชุดความรู้ให้แล้วก็ตาม ทำให้เกิดความท้อแท้ จนบางส่วนไม่อยากเรียน หรือมีความเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา การกลับมาเปิดเรียนใหม่ควรต้องมีการวางแผน และหลักสูตรให้มีความเหมาะสม และเป็นโอกาสที่ทำให้ได้ทบทวนหลักสูตรและวิธีการประเมินผลให้เหมาะสม เช่น การประเมินพัฒนาการ และคุณภาพการศึกษา นอกจากนั้นยังต้องมีการดูแลเด็กๆ ในแง่ของจิตใจอีกด้วย

สำหรับ “โรงเรียนชนะ” ข้อเสนอรับมือโควิด-19 จากภาคการศึกษาในเวที Equity Forum ของ กสศ. วันนี้ได้แก่ 

1. มาตรการทางการเงินเพื่อเยียวยาครอบครัวนักเรียน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ
2. โปรแกรมฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ให้กลับคืนมาเร็วที่สุด
3. ประเมินความพร้อมและความรู้ของนักเรียนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
4. สนับสนุนระบบอาสาสมัครการศึกษาของชุมชุม/ ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระครูโดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่สามารถเปิดเรียนได้
5. จัดอาหารเข้าช่วยเด็กยากจน ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบ
6. จัดโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพกาย ใจ อารมณ์ให้เด็ก
7. จัดหาโครงสร้างพื้นฐานสัญญานอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล
8. ร่วมมือกับเอกชน ช่วยสอนเสริมนักเรียนเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา (Learning Gap)
9. ส่งต่อข้อมูลสร้าง Team Teaching เต็มเติมความรู้หลังเลื่อนระดับชั้น
10. ให้ภาคการศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการปิดเรียนร่วมกับ ศบค. 

เวลาที่ออกนโยบายด้านการศึกษา อยากให้เสียงของการศึกษาดังขึ้น นอกจากด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat