PUBLIC HEALTH

สธ.เผยทีมเชิงรุก CCR Team ดูแลผู้ป่วย โควิดในชุมชนเมืองที่ซับซ้อนได้ผลดี

กระทรวงสาธารณสุขเผยชุมชนเขตเมืองปัญหาซับซ้อน ผู้ติดเชื้อเข้าไม่ถึงการรักษา ผู้สูงอายุเกือบ 100% ไม่ได้ฉีดวัคซีน จัดทีมเชิงรุก CCR Team 188 ทีม กทม.ร่วมกับ สธ. บูรณาการตรวจคัดกรอง ดูแลรักษาที่บ้าน ประสานส่งตัวผู้มีอาการรุนแรงเข้าโรงพยาบาล และฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ, 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ให้ความรู้การดูแลตนเองป้องกันติดเชื้อ นำร่องแล้วได้ผลดี   

วันนี้ (19 ก.ค. 64) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงทีมปฏิบัติเชิงรุก “CCR Team” ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า พื้นที่เขตเมืองโดยเฉพาะ กทม. มีความซับซ้อนของปัญหา คือ ประชาชนเมื่อเจ็บป่วยติดเชื้อเข้าไม่ถึงระบบบริการหรือออกมาจากบ้านไม่ได้ ขณะที่หน่วยบริการก็เข้าไปไม่ถึงหรือเข้าถึงแต่ดูแลได้ไม่เบ็ดเสร็จ เนื่องจากการดูแลไม่ใช่มิติการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องการดูแลรักษา การฉีดวัคซีน การตรวจค้นหาเชิงรุก อาหาร ความเป็นอยู่ เช่น ลูกติดเชื้อแต่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ถือว่ามีความหลากหลายในการทำงานและการแก้ไขปัญหา ซึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาในชุมชนได้ทั้งหมด ดังนั้นความร่วมมือสำคัญระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกทม. รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน จัดตั้งทีมปฏิบัติการเชิงรุก Comprehensive COVID-19 Response Team (CCR Team) บูรณาการการทำงานร่วมกันดูแลอย่างเบ็ดเสร็จ 

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

การดำเนินงานของ CCR Team จะมีการสำรวจปัญหาโดยหารือกับผู้นำชุมชน ว่าบ้านใดมีผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยติดเตียง และเข้าไปให้ความช่วยเหลือ, ตรวจคัดกรองด้วยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ในการลงชุมชนทำความเข้าใจกับประชาชนว่าแม้คัดกรองแล้วแม้ผลลบ ยังต้องปฏิบัติตนเหมือนติดเชื้อหรือเสี่ยงติดเชื้อตลอดเวลา โดยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ส่วนผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงจะนำเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล โดยประสานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการส่งต่อ ผู้ติดเชื้ออาการเล็กน้อยและปานกลางจะดูแลไม่ให้เกิดอาการรุนแรงจนเสี่ยงเสียชีวิต, ช่วยเหลือการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ส่งแพทย์เข้าไปดูแลและยารักษา เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อ รวมทั้งการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

“ผู้สูงอายุในชุมชนที่ซับซ้อนเหล่านี้เกือบ 100% ไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะลงทะเบียนไม่เป็น หรือลงทะเบียนได้แต่ไม่มีผู้พาไปฉีดวัคซีน หากไม่ดำเนินการฉีดวัคซีนภายในระยะเวลานี้ ภายใน 7-14 วัน ภาพสถานการณ์ไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้า กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้อาจติดเชื้อ ซึ่งจะมีโอกาสอาการรุนแรง เสียชีวิตได้” นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าว

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวว่า ความสำคัญของการดำเนินงานเรื่องนี้ คือ ความต่อเนื่อง ไม่ได้เข้าไปทำเป็นครั้งๆ แล้วจบไป โดยจะมองปัญหาและประชาชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ดูแลประชาชนเหมือนคนในครอบครัว โดยสัปดาห์ที่แล้วได้ส่งหน่วยทดลองหน่วยแรกลงพื้นที่ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และหน่วยบริการปฐมภูมิเอกชน ที่ซอยลาซาล และเขตทวีวัฒนา มีเป้าหมายขยายผล 188 ทีมครอบคลุมพื้นที่ กทม. ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2 เดือน โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนชุดตรวจ ยา วัคซีน จากเดิมที่ต้องมาสถานพยาบาล และจะขยายทั่วประเทศในพื้นที่เขตที่มีปัญหาการเข้าไม่ถึง ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่สามารถติดต่อให้ทีมลงไปช่วยดูแลได้ผ่านหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือโทร. 1422 และในกรณีฉุกเฉิน โทร. 1669

Related Posts

Send this to a friend