BUSINESS

ทีเส็บ แถลงก้าวแรกของ “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์”พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติ

ทีเส็บแถลงความสำเร็จในปีแรกของ “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” (Thailand LOG-IN Events) แผนแม่บทขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ล็อก-อิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านการส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ พร้อมเปิดตัวพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมภายใต้แผนแม่บทฯ ในปีนี้อย่างเป็นทางการ รวมถึงประกาศแนวทางผลักดันแผนแม่บทฯ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงแผนแม่บทอุตสาหกรรม “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” หนึ่งในแคมเปญสำคัญของการกระตุ้นและสนับสนุนการจัดงานไมซ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนฟื้นฟูธุรกิจสาขาต่าง ๆ อย่างเต็มศักยภาพ โดยแผนแม่บทฯ นี้เป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนและส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติในกลุ่มโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure หรือ ล็อก-อิน)

“แนวทางการดำเนินงานของแผนแม่บทอุตสาหกรรม ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ นั้น ตอบโจทย์แนวทางโครงการแผนพัฒนาประเทศระดับมหภาคของรัฐบาล เพราะกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม กระจายงานสู่ภูมิภาค และประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทยหรือในพื้นที่พันธมิตรหลักอย่าง อีอีซี และพัทยา และมีแผนในการขยายพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติ แผนแม่บทฯ นี้จะช่วยประสานประโยชน์และส่งเสริมสนับสนุนด้านการจัดงานในด้านต่าง ๆ เช่น สนับสนุนด้านการเงินในการจัดงานแบบวิถีใหม่ (new normal) สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาศักยภาพการรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในพื้นที่ อีอีซี การทำกิจกรรมการตลาดและการประชาสัมพันธ์งาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งในปีนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมแผนแม่บทฯ ถึง 5 งาน (ทั้งการขยายโพรไฟล์งาน และ นำงานไปจัดในพื้นที่ อีอีซี) ภายใต้ 3 อุตสาหกรรมภายใต้แผนแม่บทฯ นี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมด้านการเดินเรือ และอุตสาหกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ และคาดว่าจะมีงานแสดงสินค้านานาชาติภายใต้แผนแม่บทฯ ทั้งงานที่มีการขยายโพรไฟล์ในอุตสาหกรรม ภายใต้แผนแม่บทฯ และงานจัดในพื้นที่อีอีซี รวมถึง 15 งานด้วยกัน ภายในปี 2568”

นิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า “แผนแม่บท ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ จะมีส่วนช่วยโปรโมทและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับ นักลงทุนได้อย่างลงตัว เพราะสำนักงาน อีอีซี มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและบริเวณใกล้เคียงให้เป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยว (Tourist Destination) และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Multimodal Logistics) รวมไปถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ อีอีซี และประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์และมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น”

ดร.คเณศ ย้ำเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างมาก และจะพร้อมที่จะให้บริการได้ประมาณปี 2568 – 2569 ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ผ่านการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติอีกด้วย”

นางนิชาภา กล่าวอีกว่า “แนวทางผลักดันแผนแม่บทฯ ในปีหน้า มีแนวทางการดำเนินงานด้านกลยุทธ์เพิ่มเติมขึ้นมาอีก 3 ด้าน ด้านแรกคือ ขยายขอบเขต (Expand EEC and Targeted Industries) ขยายขอบเขตการผลักดันงานแสดงสินค้านานาชาติคลอบคลุมพื้นที่ อีอีซี เช่น ระยอง บางแสน รวมถึง ผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการจัดการภัยพิบัติ ด้านที่สอง คือ เพิ่มพลังความร่วมมือ (Government Partnership) ต่อยอดการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ที่ขยายเพิ่มเติม รวมถึงภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย และด้านที่สาม คือ บ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubation Programme : Strengthen Thai Exhibition Stakeholders) สร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยเพื่อพร้อมรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การจัดทำคู่มือแนวทาง รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ โดยเป้าหมายสำคัญของแผนแม่บทฯ นี้ คือการได้สร้างงานแสดงสินค้าระดับโลกด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อย่าง Thailand International Air Show เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2566 และ จัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568”

ด้าน นางสาวกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวว่า “สำหรับภาพรวมกลยุทธ์และเป้าหมายในการผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติ ที่เข้ามาจัดงานในประเทศไทย สิ่งแรกเลยก็คืองาน ‘ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์’ (Thailand LOG-IN Events) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ TCEB ที่อยู่ภายใต้แคมเปญ Re-Energizing Exhibition ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังกลับให้อุตสาหกรรมเอ็กซิบิชั่น หลักๆ เลยก็คือ เราจะยกโปร์ไฟล์ Logistics & Infrastructure หรือ LOG-IN มาเป็นไฮไลท์ จุดประสงค์หลักก็คือ อยากให้ผู้จัดงานที่จัดงานอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟทั้งหมด 12 เอสเคิร์ฟ ขยายโปรไฟล์หรือจัดงานภายใต้ Logistics & Infrastructure โดยกลยุทธ์ที่ใช้ดำเนินการมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ 

1.) ทีเส็บจะมีการร่วมมือกับทางภาครัฐ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางพูดคุยร่วมกับ EEC (ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา) กระทรวงคมนาคม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) เป็นต้น ซึ่งแต่ละภาครัฐก็จะมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้โลจิสติกส์ฯ โดยมีการจัดเอ็กซิบิชั่นตามดีมานด์ที่เกิดขึ้น เมื่อภาครัฐลงทุน คนต่างชาติ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ก็เตรียมขายของ ผู้จัดงานก็เตรียมจัดงาน ฉะนั้นจึงต้องดูว่ารัฐบาลกำลังส่งเสริมอะไร หรือมีเมกกะโปรเจ็กต์อะไรบ้าง 

2.) ทีเส็บจะใช้กลยุทธ์ในการซัพพอร์ตผู้จัดงานโดยมีการสนับสนุนในเรื่องเงิน โดยจะให้ตาม เพอร์ฟอร์แมนซ์ ซึ่งมีการแตกงานใหม่ๆ และผลักดันงานจากกรุงเทพฯ ไปสู่ EEC มากสุด 2.6 ล้านบาท และเมื่อไทยเปิดประเทศหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงฟื้นตัว เราจะมีการดึงงานใหม่จากต่างประเทศเข้ามาด้วย ในส่วนของการอำนวยความสะดวกจากทางภาครัฐ ก็เช่น การขนของเข้ามาจัดแสดงสินค้า การขอวีซ่า ซึ่งเราก็จะประสานงานกับภาครัฐให้ 

3.) การผลักดันงานไปสู่ภูมิภาค โดยพื้นที่ที่เราโฟกัสก็คือ EEC ซึ่งแผนปี 2564 ของเรา นอกจากการผูกกับพันธมิตรผู้จัดงาน 5 งานเดิมที่ต้องการเพิ่มโปร์ไฟล์แล้ว เรายังต้องการเพิ่มพันธมิตรใหม่อีกด้วย โดยจะเพิ่มอีก 2 เซกเตอร์จาก 12 เอสเคิร์ฟคือ Health & Wellness และ Robotic Automotive ทีนี้พอเพิ่มเซกเตอร์แล้ว ก็ต้องเพิ่มพื้นที่จัดงานด้วย อาทิ จุกเสม็ด จ.ระยอง, ดิจิทัล วัลเลย์ บางแสน จ.ชลบุรี เป็นต้น ซึ่งพอขยายเซกเตอร์ ขยายพื้นที่แล้ว ก็ต้องขยายพันธมิตรด้วย ซึ่งแต่ละกระทรวงก็จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้นๆ รวมทั้ง SMEs ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์กับออร์แกไนเซอร์ เพราะภาครัฐจะใช้เอ็กซิบิชั่นในการสนับสนุน ร่วมด้วย เช่น นำ SMEs มาออกงาน หรือการที่ทีเส็บทำงานร่วมกับภาครัฐก็อาจจุดประกายให้ภาครัฐใช้เอ็กซิบิชั่นเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายของแต่ละกระทรวงได้”

กนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

“ในส่วนของรายละเอียดของนโยบายการสนับสนุน (Intensives) ที่มีต่อผู้ประกอบการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้แผนแม่บทฯ ก็มีด้วยกัน 3 สเต็ปคือ สเต็ปแรก ก่อนจะจัดงานเราต้องมีการทำรีเสิร์ช ทำมาร์เก็ตติ้งแอ็คทิวิตี้ และมีการตรวจสอบขนาดของงานและความเป็นไปได้ก่อนการจัดงาน ถ้าช่วงนี้ไม่สามารถจัดงานได้ ก็อาจจะออนไลน์เข้ามาดูก่อนได้ เนื่องจากงานจัดแสดงสินค้าแต่ละงานนั้นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 ปีเลยละ คือต้องหาข้อมูล มาดูพื้นที่ และความเป็นไปได้ในการจัดการก่อน ภายใต้การสนับสนุนในเรื่องเงินของเราตามขนาดของงานที่จะจัด แต่ถ้ามีงานเดิมที่เคยจัดมาอยู่แล้ว ก็จะได้การสนับสนุนในแบบงานเดิม แล้วถ้างานเดิมอยากจะแตกโปร์ไฟล์ใหม่ภายใต้ LOG-IN ก็จะได้รับการสนับสนุนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น งานเดิมเป็นงาน Food แล้วอยากจะแตกโปร์ไฟล์เพิ่มเติมเป็น Food Logistics ก็สามารถทำได้ สเต็ปที่สอง จะจัดงานใหม่ทั้งงานเลยก็ได้อีกเช่นกัน สเต็ปที่สาม จะยกงานทั้งหมดไปสู่ EEC ก็ได้อีก โดยทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้งบสนับสนุนขนาดของงานมากที่สุด 2.6 ล้านบาทตามที่กล่าวไป”

กนกพร กล่าวเสริม ถึงแผนการประสานงานระหว่างพันธมิตรภายใต้แผนแม่บทฯ และแนวทางการสร้างพันธมิตรใหม่ว่า “แนวทางการสร้างพันธมิตรใหม่ของเราจะเป็นในเชิง G to G โดยเราจะใช้วิธีนำแผนการดำเนินงานต่างๆ ของเราไปซิงก์กัน และอาจจะต้องเจาะตามนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ อย่างเช่น Depa มีโครงการสตาร์ทอัพ แล้ว Depa อยากจะใช้เอ็กซิบิชั่นแฟลตฟอร์มขึ้นมา ทีเส็บก็จะนำเอ็กซิบิชั่นไปเสนอให้ Depa เป็นต้น ซึ่งอันนี้เป็นเชิงนโยบาย แต่ในส่วนของแอคทิวิตี้เราก็มีแพลนที่จะจัดแอคทิวิตี้อยู่แล้ว เช่น การจัด Networking Activity ให้กับผู้ประกอบการและภาครัฐได้มาเจอกัน อย่างเวที ‘ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์’ ครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นเวทีที่ดี ซึ่งเราก็จะจัดแฟลตฟอร์มแบบนี้ที่ EEC ด้วย พูดง่ายๆ ว่าทีเส็บเป็นโครงข่ายที่ช่วยประสานงานให้กับภาคส่วนต่างๆ ก็ว่าได้”

“สำหรับกลยุทธ์ของแผนแม่บทฯ ในอนาคตหรือในปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงไม่แน่นอน นอกจากการเพิ่มเซกเตอร์และการเพิ่มขนาดของพื้นที่ในการจัดงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นแล้ว เรายังต้องเพิ่มพลังความร่วมมือจากรัฐบาล เช่น ถ้ามีการเพิ่มเซกเตอร์ Health & Wellness เราก็ต้องนำแผนแม่บทฯ ไปเสนอยังกระทรวงสาธารณสุข หรือถ้าเพิ่มเซกเตอร์ Robotic Automotive เราก็ต้องนำแผนแม่บทฯ ไปเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยจัดงาน Networking เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้มาพบกันอีกด้วย ที่สำคัญเวลาที่เราจะไปจัดเอ็กซิบิชั่นสักงานหนึ่ง พื้นที่นั้นๆ จะต้องมีความพร้อม นั่นคือต้องมี Local Partner หรือบริษัทผู้จัดงานของไทยที่คอยช่วยบริหารจัดการ รวมไปถึงบริษัททำบูธ บริษัทเทรด และบริษัทรับลงทะเบียน เรียกว่าทุกภาคส่วนต้องประสานงานกันอย่างดี แล้วเรายังมีแนวคิดว่าจะจัดทำคู่มือแบบ Manual ที่แนะนำว่าการจัดงานเอ็กซิบิชั่นรองรับระดับอินเตอร์นั้นเขาทำกันอย่างไร รวมทั้งมีการฝึกอบรมให้ด้วย สรุปคือเมื่อ Demand เริ่มไป ฝ่าย Supply ก็ต้องพร้อมที่จะรองรับ เพราะเมื่อเปิดประเทศแล้วมีชาวต่างชาติเข้ามา ก็เท่ากับว่าเราสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ของประเทศเราด้วย” กนกพร กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend