BUSINESS

ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน … เพียงแค่ภาคธุรกิจคงไม่พอ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะ และลดการสร้างคาร์บอนมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แทบทุกธุรกิจปรับตัว และให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมากขึ้นจนเป็นนโยบายหลักของบริษัท นำมาซึ่งคำถามที่ว่าธุรกิจเหล่านี้ทำแล้วจะได้อะไร ทำแล้วอยู่ได้ สร้างกำไรมากขึ้นหรือไม่ หรือมันเพียงเป็นนโยบายที่สวยหรูให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีเท่านั้น? และที่สำคัญที่สุดคือผู้บริโภค “สนใจ” เรื่องนี้บ้างหรือไม่

โลกเราเผชิญปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันแก้ และหากองค์กรขนาดใหญ่ไม่เริ่ม ไม่ให้ความสำคัญก่อน ปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้น และเราทุกคนจะอยู่ไม่ได้ในที่สุด

อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวบนเวที CEO TALK ในงานสัมมนาเพื่อความยั่งยืนสำหรับธุรกิจ Sustainability for Business Forum (SBF20) ครั้งที่ 4 จัดโดยหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย นำโดย หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย (Franco-Thai Chamber of Commerce) หอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย (Netherlands-Thai Chamber of Commerce) และหอการค้าไทย-สวีเดน (Thai-Swedish Chamber of Commerce)

อินเนส เปิดเผยว่า ความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจบนแนวทางด้านความยั่งยืนมีความสำคัญมาก และจะส่งผลดีในอนาคตต่อโลก ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจอย่างแน่นอน เพราะการสร้างความยั่งยืนมีผลต่อ “อนาคตที่ดี” เหมือนเป็นการลงทุนระยะยาวที่มองถึงผลในอนาคตต่อตัวผู้บริโภคเอง และจะสะท้อนกลับมายังองค์กรในแง่ของความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และการเป็นพาร์ทเนอร์ในการร่วมพัฒนาเพื่อความยั่งยืนไปร่วมกันกับสังคม

รายงาน Google Year in Search Thailand: Insights for Brands Report 2020 พบว่าผู้บริโภคชาวไทยหันมาให้ความสนใจประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนมากขึ้น ความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระเป๋าผ้าและการลดใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้บริโภคไทยมีการค้นหาเกี่ยวกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ และการใช้พลังงานทางเลือกต่างๆ แสดงให้เห็นแนวโน้มที่ทำให้ผู้ประกอบการ องค์กรธุรกิจ และอุตสาหกรรมต้องหันมาใส่ใจเรื่องการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

“ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่ในแง่ของการเลือกบริโภคสินค้า อาจจะยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ลอรีอัล ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเพิ่มความพยายามทางด้านการสื่อสารเพิ่มขึ้นควบคู่กันไปกับด้านการผลิต และอุตสาหกรรม ต่อไปเราจะมีช่องทางออนไลน์ ที่ผู้บริโภคจะสามารถดูข้อมูลได้ทันทีว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มี ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนความยั่งยืนอย่างไร เพื่อเป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์” อินเนส กล่าว

ในปี 2015 ผู้นำโลกเห็นด้วยกับ 17 เป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2573 เป้าหมายเหล่านี้คือการเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน ขจัดความหิวโหย สร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียม มีความเท่าเทียมทางเพศ ลดความเหลื่อมล้ำ มีพลังงานสะอาด ฯลฯ เพื่อปกป้องโลก และทำให้ทุกคนมีความสงบสุขและความมั่งคั่ง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีแนวทางและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับทุกประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาของตนเอง เราควรจะเลือกทางเลือกที่เหมาะสมในการปรับปรุงชีวิตสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

“ลอรีอัล กรุ๊ป ให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการปฏิรูปธุรกิจของกลุ่มเพื่อไม่ให้ละเมิดขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundaries) อย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดเป้าหมายความยั่งยืนใหม่สำหรับปี 2030 (L’Oreal for The Future) และมีเป้าหมายสำคัญ คือการจะต้องทำให้ทั้งโรงงาน และศูนย์กระจายสินค้าทุกแห่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเป็นศูนย์ และใช้พลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2025 เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เป็นพลาสติกรีไซเคิล หรือวัสดุชีวภาพ 100% ภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2016 ให้ได้ภายในปี 2030” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

เป้าหมายสูงสุดที่เราอยากเห็นคือการที่ทุกผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดของทุกแบรนด์ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เพื่อโลกใบนี้ และเราได้เริ่มแล้วกับผลิตภัณฑ์ทุกแบรนด์ของเรา

อินเนส คาลไดรา และ อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ลอรีอัล ประเทศไทย

ในส่วนของประเทศไทย ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ร่วมสนับสนุนนโยบายการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ลอรีอัล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ลอรีอัล กรุ๊ป เป็นบริษัทระดับนานาชาติบริษัทเดียวที่เลือก และจัดซื้อน้ำมันรำข้าวหอมมะลิจากกลุ่มสหกรณ์ในภาคอีสานโดยตรง และจัดซื้อในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและดูแลผิวหลายตัวของบริษัท

อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ลอรีอัล ประเทศไทย

“เราต้องการสนับสนุนเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยโดยตรง และส่งเสริมการค้าอย่างเป็นธรรม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของเกษตรกรไทย และชุมชน รวมถึงพัฒนาระบบวนเกษตร โดยนอกจากการรับซื้อน้ำมันรำข้าวหอมมะลิแล้ว เรายังเข้าไปร่วมกับเกษตรกรในการพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้จากท้องถิ่น เพิ่มเติมด้วยองค์ความรู้ และให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มผลผลิต  สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย” อรอนงค์ กล่าว

การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเพียงองค์กรธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นความพยายามของทั้งระบบ ผู้บริโภค ต้องมีส่วนในการร่วมผลักดัน สนับสนุน และตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว เพื่อการเติบโต ก้าวหน้า และพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

Related Posts

Send this to a friend