BUSINESS

อิเกีย จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป Learning by playing ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างมีคุณภาพ

อิเกีย ประเทศไทย จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นสมาชิก IKEA Family มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็กๆ ผ่านการเล่นอย่างมีคุณภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Learning by playing” เพราะการเล่นคือการเรียนรู้ โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ประภัสสร พวงสำลี ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กจากสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมแบ่งปันความรู้ด้านการเล่นของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจและมีส่วนร่วม ในการพัฒนาทักษะต่างๆของเด็กๆอย่างเหมาะสม พร้อมรับฟังเคล็ดลับ ในการสร้างสภาพแวดล้อมการเล่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ได้เชิญ พรรณิสา จันทเสนา นักออกแบบตกแต่งภายใน สโตร์อิเกีย บางนา มาร่วมแชร์เทคนิคการจัดบ้าน ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อีกด้วย

อาจารย์ ดร.ประภัสสร กล่าวว่า “พ่อแม่ที่กำลังเลือกซื้อของเล่นให้เด็กๆ นอกจากจะเลือกตามความสนใจของเด็กๆแล้ว อาจจะเลือกของเล่นที่พ่อแม่สามารถร่วมเล่นด้วยได้ เพราะจะช่วยสร้างความอบอุ่นแน่นแฟ้นในครอบครัว ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดปัญหาการติดหน้าจอของเด็กๆ และเมื่อถ้าพ่อแม่เล่นอย่างสนุกสนาน พร้อมเสียงที่ดังสมจริง ประกอบกับสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกัน จะทำให้เด็กๆรู้สึกสนุกกว่าการดูหน้าจอ”

“การที่เด็กๆดูหน้าจอจนติดเป็นนิสัย จะทำให้ไม่เกิดการโต้ตอบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วมของเด็กๆ และอาจทำให้พัฒนาการไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้พ่อแม่สามารถแก้ปัญหา ได้โดยการเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมกับเด็กๆ ระหว่างการดูหน้าจอ เพื่อกดหยุดหน้าจอและอธิบายเพิ่มเติม หรือพูดคุยกับเด็กๆ ถึงสิ่งที่กำลังดูเพื่อสร้างการเรียนรู้ และการโต้ตอบสองทาง นอกจากนี้พ่อแม่ยังสามารถลดการใช้หน้าจอของเด็กๆ ได้ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งที่พวกเขากำลังรับชม กับสิ่งของรอบตัวที่สามารถหยิบจับได้ เพื่อที่เด็กๆจะได้ฝึกประสาทสัมผัส เรียนรู้ลักษณะพื้นผิวของสิ่งนั้นจริงๆ และเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน”

ในส่วนของความรู้ด้านการเล่น ที่เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัยมีดังนี้

1.เด็กในวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบ พ่อแม่ของเด็กควรเข้าไปเล่นกับลูกอย่างถึงเนื้อถึงตัว เพื่อสร้างความอบอุ่น ความผูกพัน และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูก เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะมีพฤติกรรมการเล่นคนเดียว โดยการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ดังนั้นพ่อแม่ควรเน้นสร้างพัฒนาการ ด้านประสาทสัมผัสทั้งห้า โดยพ่อแม่สามารถใช้น้ำเสียงที่สมจริงและหลากหลายกับเด็กๆ ในระหว่างการเล่นเพื่อกระตุ้นจินตนาการ เพราะแม้ว่าเด็กในวัยนี้จะไม่สามารถตอบโต้ได้ แต่สามารถจดจำและคิดตามได้ และเมื่อวันหนึ่งที่เด็กๆพร้อม เขาจะพูดคำที่จดจำเหล่านั้นออกมา ทั้งนี้การเล่นของเด็กๆ ในช่วงวัยนี้จะต้องระมัดระวังของเล่นที่เด็กๆ สามารถหยิบเข้าปากเพราะอาจเกิดอันตรายได้

2.เด็กวัย 3-4 ขวบ หรือวัยอนุบาลที่เริ่มมีกฎกติกาต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เด็กในวัยนี้สามารถเรียนรู้เรื่องการแพ้ชนะและการให้อภัย จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ สำหรับปลูกฝังการเรียนรู้ด้านการจัดการอารมณ์ และทักษะในการเข้าสังคม ผ่านการเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ กับคนนอกครอบครัวอย่างเพื่อนๆ ที่โรงเรียน โดยพ่อแม่สามารถร่วมเล่นและทำหน้าที่ เป็นตัวเชื่อมเพื่อสอนทักษะการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น

สำหรับหลักการในการเลือกของเล่น ของเล่นมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็ก ตลอดถึงการมอง การได้ยิน การส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ซึ่งนับเป็นตัวช่วยสำคัญที่ส่งเสริมทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และการสื่อสาร นอกจากการเลือกของเล่นที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการแล้ว พ่อแม่ควรคำนึงถึงหลักความปลอดภัยอีกด้วย โดยมีหลักการและข้อควรระวัง สำหรับการเลือกของเล่นที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่

1.ระวังของเล่นที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะหากเล่นผิดวิธี อาจมีโอกาสอุดตันทางเดินอาหารและหลอดลมได้

2.ของเล่นที่มีสายยาว อาจขดเป็นวงและรดคอเด็กทำให้เกิดอันตรายได้

3.ของเล่นที่มีสารเคมีปนเปื้อน พึงระวังของเล่นบางประเภทที่เติมสารเคมีเพื่อต้องการยืดอายุการใช้งาน หรือการเติมสีสังเคราะห์เพื่อความสวยงาม

4.ของเล่นประเภทที่มีความรุนแรง เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก ระเบิด หรือของเล่นที่มีเสียงดังเกินกว่าความปลอดภัยของเด็ก (มากกว่า 110 เดซิเบล) เพราะอาจทำลายประสาทการรับเสียง

5.ของเล่นที่มีลักษณะแหลมคม อาจจะทำให้เด็กๆ เกิดอาการบาดเจ็บได้

ด้าน พรรณิสา กล่าวว่า “อิเกียเชื่อว่าการเล่นเป็นส่วนสำคัญ ในการเดินทางของเด็กไปสู่การค้นพบและการเรียนรู้ และยังเป็นการฝึกฝนทักษะที่สำคัญ การจัดเวิร์คช็อปในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้พ่อแม่และผู้ปกครองได้เข้าใจลึกซึ้ง เกี่ยวกับพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัย ตลอดถึงความสำคัญจากการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ในการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยอิเกียมุ่งมั่นที่จะออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของเล่น เพื่อให้รองรับการเล่นของเด็กๆทุกวัย เพื่อให้พวกเขาได้ปลดปล่อยศักยภาพอย่างเต็มที่ผ่านการเล่น พร้อมเสริมสร้างการเล่นตามจินตนาการ และกระตุ้นการเรียนรู้ อิเกียหวังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อพัฒนาการ และเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมของเด็กๆทุกคน สำหรับจัดสรรพื้นที่สำหรับการเล่นในบ้าน และการจัดบ้านที่ส่งเสริมการเล่นของเด็กๆอย่างเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลักไม่ว่าจะเป็น”

1.แยกของเล่นออกจากข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ในบ้านที่อาจเป็นอันตราย หรืออาจะเลือกใช้ที่ครอบปลั๊กไฟในบริเวณที่เด็กๆเล่น เพื่อป้องกันไฟฟ้าช็อต

2.ความสว่างที่เพียงพอและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม แนะนำให้จัดวางเฟอร์นิเจอร์โดยคำนึงถึงความปลอดภัย มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทในห้องที่เพียงพอ

3.แยกพื้นที่สำหรับการเรียนและเล่นออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างวินัยสำหรับเด็ก เช่น บริเวณสำหรับเรียนหนังสือ ควรมีโต๊ะเก้าอี้ที่เหมาะสมสำหรับสรีระของเด็กๆ มีชั้นวางหรือตู้เก็บของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนปลอดโปร่งและมีสมาธิ ในขณะที่พื้นที่สำหรับการเล่นนั้นควรมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ขยับตัวอย่างเต็มที่

4.พื้นที่สำหรับของเล่นบทบาทสมมุติ การเล่นบทบาทสมมุติ จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการและการส่งเสริมการขยับร่างกาย เช่น ชุดเครื่องครัวของเล่น ที่สามารถวางไว้ใกล้ห้องครัว เพื่อที่เด็กๆจะได้ร่วมเล่นทำอาหาร ไปพร้อมกับพ่อแม่ที่กำลังทำอาหาร สร้างการเรียนรู้ พูดคุยถึงสิ่งที่กำลังเล่น เพื่อฝึกจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ผู้ปกครองต้องจัดสรรพื้นที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักอยู่เสมอ

Related Posts

Send this to a friend