BUSINESS

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เผยแนวโน้มเทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2567 สำหรับธุรกิจ B2B

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เผยแนวโน้มของอีคอมเมิร์ซ B2B ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเชิงกลยุทธ์จำเป็นสำหรับธุรกิจ B2B พร้อมนำเสนอข้อมูลที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจก้าวทันเทรนด์และความเปลี่ยนแปลง ฟันฝ่าวิกฤต และยกระดับสู่การเป็นผู้นำยุคอีคอมเมิร์ซ B2B

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เผยเทรนด์ที่น่าสนใจของอีคอมเมิร์ซ B2B โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงาน ‘The Ultimate Guide On B2B E-Commerce Trends in APAC’ ซึ่งพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ B2B ดังนี้

1.ยอดขายอีคอมเมิร์ซ B2B ล็อตใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของการชำระเงินแบบเข้ารหัส (encrypted payment) ทำให้การทำธุรกรรมมีความสะดวกมากขึ้น โดย 35% ระบุว่ายินดีใช้จ่ายเงิน 500,000 ดอลลาร์ขึ้นไปสำหรับการทำธุรกรรมหนึ่งครั้งผ่านช่องทางดิจิทัล และ 15% ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรรู้สึกสบายใจที่จะซื้อสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ผ่านทางออนไลน์ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีขนาดการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ B2B ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่า 0.84 ล้านล้านบาทในปี 2563 และคิดเป็น 27% ของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในปี 2565

2.ประสบการณ์แบบ Personalization จะเพิ่มมากขึ้นเพราะคนรุ่นมิลเลนเนียล เนื่องจากคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและรูปแบบการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดย 73% ของกลุ่มมิลเลนเนียลมีหน้าที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าของบริษัท และ 34% เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งนี้ ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ B2B ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มุ่งเน้นความได้เปรียบด้านราคา แต่ปัจจุบันมุ่งเน้นการมอบประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เหมาะกับความต้องการเชิงกลยุทธ์มากขึ้น

3.โซลูชั่นดิจิทัลแบบบริการตนเอง (Self-serve digital solutions) จะแพร่หลายมากขึ้น โดยภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้แนวทางแบบ ‘hands-off’ มากขึ้น โดยจำกัดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ สร้างโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในการลดต้นทุนการขาย

4.การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชนมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว องค์กรธุรกิจจำนวนมากในภาค B2B เริ่มตระหนักถึงจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทานและระบบการจัดการโลจิสติกส์ของตน B2B International ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Merkel แนะนำให้องค์กรต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชน นำไปสู่การเข้าถึงสินค้าคงคลังและกำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดในไซต์อื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกทดแทน ทั้งนี้ เครือข่ายซัพพลายเชนที่หลากหลายจะช่วยยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ลดความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

5.มุ่งเน้นความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ลูกค้าในกลุ่ม B2B และ B2C จะยังคงเลือกใช้จ่ายเงินสำหรับทางเลือกที่ยั่งยืน จากการศึกษาพบว่ามีลูกค้าจำนวนมากที่ระบุว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ และลูกค้ายินดีที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน

เฮอร์เบิร์ต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซ B2B เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นกำลังสำคัญในระบบการค้าโลก โดยมีบทบาทในการรักษาความยั่งยืนของซัพพลายเชน การลงทุนของเราในด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ความยั่งยืน และโครงสร้างพื้นฐาน ตอกย้ำถึงความพร้อมในการช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับประสบการณ์อีคอมเมิร์ซที่ดีขึ้น พร้อมก้าวสู่ตลาดโลกเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

Related Posts

Send this to a friend