BUSINESS

บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 บริษัทใหญ่ ชี้แจงต้นทุนสินค้าขึ้นต่อเนื่อง

พร้อมร่วมลงนามในหนังสือ เตรียมยื่นให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาอนุมัติการปรับขึ้นราคาสินค้าอีก 2 บาท เป็น 8 บาทต่อซอง ชี้ หากไม่สามารถปรับขึ้นราคาให้เหมาะสมกับต้นทุนได้ อาจต้องพิจารณาปรับสัดส่วนการจัดจำหน่าย เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสมาก รับหากเป็นเช่นนั้น อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าในประเทศได้

วันนี้ (15 ส.ค. 65) ตัวแทนจากบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ยี่ห้อดัง ได้แก่ มาม่า ยำยำ ไวไว ซื่อสัตย์ และนิชชิน ได้แก่ นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน), นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการบริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด, นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด, นายกิติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท วันไทย อุตสาหกรรม จำกัด และนายฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการบริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมแถลงข่าว ชี้แจงต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดย เตรียมยื่นหนังสือต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณาปรับขึ้นราคาให้เหมาะสมกับต้นทุนอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องไปแล้วหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ

นายพันธ์ ระบุว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่ทั้ง 5 บริษัทมารวมตัวกัน เพื่อแจงถึงต้นทุนของราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าจำเป็น ที่ต้องได้รับการควบคุมราคาจากภาครัฐ โดยครั้งล่าสุดที่มีการปรับขึ้นราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคือในปี 2551 ที่ปรับเพิ่มจากราคา 5 บาทเป็น 6 บาท โดยจากวันนั้นก็นับว่าเกือบ 15 ปีแล้วที่ราคายังไม่เคยปรับขึ้นราคาอีกเลย ในช่วงที่ผ่านมามีวิกฤตที่เกิดขึ้นกับต้นทุนของเราคาสินค้าใหญ่ ๆ อยู่ 2 ครั้ง คือ ในปี 2554 ที่น้ำมันปาล์มมีราคาสูงมาก และในปี 2557 ที่เกิดวิกฤตแป้งสาลี แต่ทั้งสองครั้งก็เป็นการปรับเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ทางผู้ผลิตจึงยังพอรับไหว แต่ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา สถานการณ์วัตถุดิบไม่ได้ขึ้นแล้วลงไว อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

นายพันธ์ ระบุต่อว่า ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เห็นข้อมูลต้นทุนทั้งหมดของบริษัท จึงอยากขอความเห็นใจว่าขึ้นราคาสินค้าได้หรือไม่ จะกำไรน้อยไม่ว่า แต่จะขาดทุนไม่ได้ เราจึงลงนามร่วมกัน ขอให้เร่งรัดพิจารณาคำขอของบริษัทต่าง ๆ โดยเร่งด่วน และหากรัฐไม่ทำไรเลย ก็ต้องทน เราต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง ทำความเข้าใจในสถานการณ์ให้ตรงกัน และจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล และเหมาะสมที่สุดกับทั้งประชาชนและผู้ผลิตเจ้าของกิจการ ซึ่งอำนาจการตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่รัฐไม่ใช่เรา หากไม่ได้ก็ต้องทน

ด้านนายวีระ ระบุว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขึ้นของต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะแป้งสาลีกับน้ำมันปาล์ม ซึ่งกระทบบริษัทและผลประกอบการ โดยในไตรมาส 1 บางเดือนยอดสุทธิของสินค้าเป็นตัวแดง นับว่าเป็นการขาดทุน โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน ทำให้สินค้าแป้งสาลีราคาปรับขึ้น 20-30% และน้ำมันปาล์มราคาสูงขึ้นเท่าตัว ทำให้เกิดภาวะขาดทุน ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่ปรับราคาสินค้า ก็จะปรับลดการขายภายในประเทศลง จึงอยากร้องขอให้พิจารณาการปรับราคาขึ้น เพื่อให้อยู่รอดและยืนหยัดอยู่ได้ในสภาวะแบบนี้

“การปรับลดการผลิตยังไม่ได้ลดลงทันที ต้องรอกรมการค้าภายในก่อน หากไม่มีการปรับราคาขึ้น อาจต้องลดการผลิตสินค้าบางรายการที่มีต้นทุนสูง และส่งออกสินค้าต่างประเทศมากขึ้น” นายวีระ กล่าวทิ้งท้าย

นายกิติพศ กล่าวว่า บริษัทมีการปรับขึ้นราคาสินค้าในต่างประเทศไปแล้วมากกว่า 2 ครั้ง แต่ภายในประเทศไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม จนถึงตอนนี้เข้าเนื้อทุกวัน พยายามซัพพอร์ตเท่าที่ทำได้ ซึ่งการส่งออกให้มากกว่านี้จะช่วยได้ แต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากตลาดหลักอยู่ในประเทศไทยกว่า 70% จึงอยากให้มีการปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็น 8 บาท

นายฮิริจิ กล่าวว่า บริษัท นิชชิน กระจายอยู่หลายประเทศในโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ซึ่งได้ปรับราคาเพื่อให้สอดคล้องกับราคาต้นทุนไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่นปรับราคาจาก 5% เป็น 12% ซึ่งต้องมีการอธิบายว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรและปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นไป หากมีการปรับราคาที่เหมาะสม ผู้ผลิตจะทำสินค้าส่งตลาดอย่างต่อเนื่อง ได้มีคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการปรับราคาขึ้น

นายปริญญา กล่าวว่า การแบกรับต้นทุนในครั้งนี้โรงงานขนาดใหญ่ยังเอาไม่อยู่ แล้วเราที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ก็ได้รับผลกระทบมากเหมือนกัน ราคาสินค้าวันนี้ชนเพดานแล้ว ถ้าปล่อยเอาไว้ เราอาจจะไปไม่ไหว ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศ บริษัทรายเล็กจะหายไป ถ้ากรมการค้าภายในกรุณาและพิจารณา ว่าเราขาดทุนจริง ๆ แม้จะขายได้ในต่างประเทศ ก็ไม่อยากให้สินค้าในไทยขาดตลาด อยากให้เกิดการแข่งขันเสรี และพัฒนาสินค้าดี ๆ ให้ออกมาอีกในอนาคต

ตัวแทนจากทั้ง 5 บริษัทระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤติที่หนักที่สุดที่เคยเจอมา และเป็นวิกฤติที่ต่อเนื่องยาวนาน จึงอยากให้ทีการปรับฐานราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 8 บาทต่อซอง เพื่อให้ครอบคลุมราคาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะมีตัวแทนไปยื่นหนังสือลงนามร่วมกันของทั้ง 5 บริษัท เพื่อเร่งรัดให้พิจารณาการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค. 65) ที่กรมการค้าภายใน พร้อมให้เวลาเพื่อรอคำตอบภายในหนึ่งสัปดาห์

Related Posts

Send this to a friend