BUSINESS

‘จีน-ไทย’ ขึ้นรถไฟด่วนสาย RCEP พาเศรษฐกิจ-การค้าสู่ระดับใหม่

หนานหนิง – หมอนยางพารา อาหารไทยสารพัดเมนู ทุเรียนหมอนทอง และผ้าไหมไทย จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ไทยจำนวนมากที่ได้รับความนิยมชมชอบในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา และได้รับอานิสงส์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอันใกล้ชิดระหว่างจีนและไทย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ไทยทยอย “ติดปีกโบยบิน” สู่ผู้คนทั่วไปในจีนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน “ทุเรียนไทย” ปรากฏให้เห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายแห่งในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน หลังทางการท้องถิ่นเปิดเส้นทางนำเข้าผลไม้ระดับชาติภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างเป็นทางการ

ทำให้ไทยมีเส้นทางขนส่งผลไม้ทางอากาศสู่จีน เช่น ทุเรียนที่สามารถเก็บเกี่ยวและส่งถึงจีนอย่างเร็วที่สุดในหนึ่งวัน

ถังฮุ่ย นักวิจัยผู้ช่วยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์กว่างซี ระบุว่าการค้าผลไม้ระหว่างจีนและไทยได้รับโอกาสใหม่ๆ หลังมีการบังคับใช้ความตกลงฯ ซึ่งเอื้ออำนวยประโยชน์ด้านภาษี พิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว การนำเข้าและส่งออกที่ยืดหยุ่นและสะดวก ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2022

สำหรับ “กว่างซี” ที่เป็นดังสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างจีนและกลุ่มประเทศตามความตกลงฯ ได้ประสานงานกับไทยอย่างแข็งขันในด้านการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยกว่างซีและไทยได้เดินหน้าพัฒนาความร่วมมือทางการค้า การลงทุน โครงการรับเหมา การศึกษา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในช่วงไม่กี่ปีมานี้

หยางฟาน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ซีจี กรุ๊ป (CG Group) เผยว่าบริษัทวิศวกรรมก่อสร้างจากฝ่ายจีนเริ่มธุรกิจในไทยเมื่อปี 2010 โดยแรกเริ่มมุ่งเป้าหมายที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงงานน้ำตาล โรงแรม และอาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก จนกระทั่งปี 2018 จึงเริ่มลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทางอุตสาหกรรม และร่วมกับหุ้นส่วนฝ่ายไทยก่อตั้งซีจี กรุ๊ป ในจังหวัดระยอง ก่อนลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมเจิ้งต้า(CP)-กว่างซี

โครงการนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมเจิ้งต้า(CP)-กว่างซี ครอบคลุมพื้นที่ราว 3,083 ไร่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และได้รับอานิสงส์จากนโยบายเอื้อสิทธิประโยชน์มากมาย โดยโครงการนี้มุ่งริเริ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การขนส่งทางราง เป็นต้น

“ขณะนี้เราดำเนินการปรึกษาหารือและปรับแก้รายละเอียดของโมเดลความร่วมมืออย่างรอบด้านภายใต้สถานการณ์ใหม่หลังประสบผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ เพื่อการเดินหน้าก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ด้วยคุณภาพสูง โดยปัจจุบันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้เสร็จสิ้นในสองระยะแรก และเตรียมผลักดันการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 5G” หยางกล่าว

ทั้งนี้ สถิติจากสำนักพาณิชย์กว่างซีระบุว่าปริมาณการนำเข้าและส่งออกระหว่างกว่างซีและไทยในปี 2021 สูงเกิน 5 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.54 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของกว่างซี เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะเดียวกันไทยได้เข้าลงทุนและจัดตั้งกิจการในกว่างซี จำนวน 156 แห่ง ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.64 หมื่นล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายน 2022

ด้านกว่างซีเข้าลงทุนและจัดตั้งกิจการหรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาคการเงินในไทย จำนวน 23 แห่ง ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.02 หมื่นล้านบาท) และผู้ประกอบการจากกว่างซีลงนามสัญญาวิศวกรรมกับไทย 63 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.65 หมื่นล้านบาท)

หวังซินหง ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มประเทศอาเซียนและความร่วมมือระดับภูมิภาคของสำนักพาณิชย์กว่างซี กล่าวว่ากว่างซีและไทยมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ความเชื่อมโยงของผู้คนและวัฒนธรรม และรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่แข็งแกร่ง

กว่างซีจะเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากไทย ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฉพาะถิ่นกว่างซีในไทย กระตุ้นผู้ประกอบการดำเนินการลงทุนแบบสองทาง สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้ามพรมแดนจีน-ไทย โดยอาศัยนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย (ฉงจั่ว) และนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมเจิ้งต้า(CP)-กว่างซี พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านต่างๆ สู่ระดับใหม่

สำหรับปี 2022 ถือเป็นวาระครบรอบ 10 ปี การจัดตั้งความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทย โดยทั้งสองฝ่ายต่างสานสัมพันธ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ามาเนิ่นนาน จีนนั้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมานานหลายปี และเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ส่วนไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของจีน เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยพุ่งสูงเกินหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2021 อยู่ที่ 1.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.47 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบปีต่อปี

“ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและอาเซียนมีความยืดหยุ่นสูง แม้สถานการณ์ระหว่างประเทศได้รับผล กระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่ความร่วมมือจีน-อาเซียน ยังคงมีความแข็งแกร่ง ความเหนียวแน่น และศักยภาพมหาศาล” เหลยเสี่ยวหัว รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว
แฟ้มภาพซินหัว

Related Posts

Send this to a friend