BUSINESS

โจทย์ใหญ่ขององค์การสุรา กับทิศทางการพัฒนาสุราสามทับในประเทศ

สำหรับบางคน เมื่อได้ยินชื่อ ‘องค์การสุรา’ อาจนึกถึงการผลิตสุรา หรือเหล้าเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบัน องค์การสุราไม่ได้เป็นทั้งผู้ผลิต และจำหน่ายสุรานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เแต่เป็นผู้ผลิต ‘เอทิลแอลกอฮอล์’ หรือที่เรียกว่า ‘สุราสามทับ’ เพื่อขายภายในประเทศ และขายต่างประเทศได้

‘สุราสามทับ’ คือ สุรากลั่นที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป ได้จากการกลั่นสุรา 3 รอบ จนเกิดเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้องค์การสุราฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ‘ภายในประเทศ’ เพียงรายเดียว ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าองค์การสุราจะผูกขาดการผลิตแอลกอฮอล์ทุกประเภททั้งหมด เพียงแต่รัฐให้องค์การสุราผลิตสุราสามทับที่มีคุณภาพสูง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะประเภทอาหาร ยา และเวชภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบหลายขั้นตอน จนเกิดความปลอดภัย และป้องกันการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อันจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้

ท่ามกลางสภาวการณ์ ที่กากน้ำตาลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในอนาคต ซึ่งทิศทางที่องค์การสุราวางแนวทางไว้ คือการเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลจากพืชอาหาร ไปเป็นวัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากกิจกรรมของมนุษย์ ของเหลือจากพืช เป็นเอทานอลที่ผลิตจากเซลลูโลส (Cellulosic Ethanol) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้น และความบริสุทธิ์สูงโดยใช้โรงงานเดิม อีกทั้งองค์การสุรา ยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ หรือ Biojet Fuels ที่จะช่วยให้องค์การสุรามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ด้วยทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรและโลก เปลี่ยนจากสิ่งของเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด

องค์การสุรา บทบาท และการดำเนินงานในปัจจุบัน

องค์การสุรา กรมสรรพสามิต จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2506 แรกเริ่มเดิมทีมีบทบาทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทิลแอลกอฮอล์ (สุราสามทับ) และสุราขาว หรือสุราผสมจำหน่ายในเขตท้องที่ 8 จังหวัด ก่อนจะยุติการผลิตและจำหน่ายสุรา เหลือเพียงผลิตและจำหน่ายเอทิลแอลกอฮอล์เพื่อขายภายในประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา เนื่องจากมีการเปิดเสรีสุรา องค์การสุราซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่ผลิตสุราเพื่อแข่งขันกับภาคเอกชน ทั้งนี้ รายได้ขององค์การสุราทั้งหมดจะนำส่งรัฐ 80-85% ของผลกำไรสุทธิ

องค์การสุราในปัจจุบันจึงอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอล์ประเภท ‘เอทิลแอลกอฮอล์’ หรือเอทานอล ที่มีดีกรีตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป มี 2 ประเภท คือ เอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และเอทิลแอลกอฮอล์แปลงสภาพ (Denatured Alcohol) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้เปิดให้เอกชนสามารถผลิตเอทิลแอลกอฮอล์แปลงสภาพเพื่อจำหน่ายไปแล้ว

สำหรับเอทิลแอลกอฮอล์ ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในทุกอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ เภสัชกรรม เวชภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางยาหรือส่วนผสมของยา อุตสาหกรรมอาหารและสมุนไพร ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารหรือวัตถุแต่งกลิ่นรส อุตสาหกรรมทั่วไป ใช้เป็นตัวทำละลายสารสกัด สารผสม นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารทำความสะอาดและสารออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อเพื่อการสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันล้วนแต่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

เอทิลแอลกอฮอล์จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการควบคุมคุณภาพ เนื่องจากถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีความปลอดภัยอย่างมาก บทบาทขององค์กรสุราจึงไม่จำกัดแค่การผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ แต่ยังหมายรวมถึงการควบคุมคุณภาพให้อยู่ในระดับที่เชื่อมั่นได้ว่าแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคมีความปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน

นอกจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยแล้ว ด้วยความสำคัญของเอทิลแอลกอฮอล์ที่ถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม การควบคุมราคาจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก องค์การสุรา จึงเป็นหน่วยงานอ้างอิงด้านการผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ควบคุมราคาจำหน่ายไม่ให้เอกชนกำหนดราคาสูงเกินจริง ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

คุณภาพ และลักษณะพิเศษของแอลกอฮอล์ขององค์การสุรา

ด้วยลักษณะการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ และเภสัชกรรม จึงทำให้องค์การสุราฯ มีการพัฒนากระบวนการผลิตและสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานให้อุตสาหกรรมอาหารและยาในประเทศไทยเติบโต เอทิลแอลกอฮอล์ที่ผลิตโดยองค์การสุราต้องมีคุณภาพสูงในระดับ Pharmaceutical grade และ Food grade ลักษณะสำคัญคือต้องเป็นเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์สูง มีปริมาณสารปนเปื้อน (impurity) ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อมนุษย์ และกินได้ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จากองค์การสุรา ยังได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานรัฐที่มีความน่าเชื่อถือ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมปศุสัตว์ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม และได้รับการรับรองระบบมาตรฐานสากลต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อยืนยันว่ามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทุกกระบวนการที่องค์การสุรา จัดทำขึ้น เป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัย และคุณภาพสูงในระดับที่ไม่เกิดอันตรายต่อประชาชน

ทั้งนี้ สินค้าเอทิลแอลกฮออล์ขององค์การสุรา ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม และอื่น ๆ มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ L PURE 95 และ L PURE 99.8 ซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร และใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลิตตามระบบมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร FSSC 22000 V.5.1 ได้รับการยอมรับโดยโครงการความปลอดภัยทางอาหารระดับโลก (GFSI) และผ่านการควบคุมคุณภาพสินค้าด้วยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025:2017

ในแง่ของการจัดการสินค้า ด้วยลักษณะของการเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะมีสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงแล้ว ยังมีระบบการจัดการที่มีความน่าเชื่อถือ และโปร่งใส เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผลิตและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ขณะที่รายได้จากการขายสินค้า ยังส่งเข้ารัฐทั้ง 2 ทาง ทั้งรายได้จากภาษีสุราสามทับ และรายได้จากผลประกอบการขององค์การสุราร้อยละ 80-85% ของกำไรสุทธิ

การจำหน่ายแอลกอฮอล์ในไทย กับสถานการณ์ที่เผชิญในปัจจุบัน

อาจมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า บทบาทขององค์การสุราถือเป็นการผูกขาดการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ทั้งหมดเลยหรือไม่ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว องค์การสุราไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ที่ผูกขาดรายเดียว เนื่องจากกรมสรรพสามิตได้แบ่งใบอนุญาตออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งในบางประเภทอนุญาตให้เอกชนผลิตและจำหน่ายได้

ก่อนอื่นจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประเภทของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อุตสาหกรรมประเภทสุรา หรือเหล้า และอุตสาหกรรมประเภทเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล (เอทิลแอลกอฮอล์)

อุตสาหกรรมประเภทสุรา หรือเหล้า จัดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตแอลกอฮอล์ที่มีแรงดีกรีมากกว่า 0.5 แต่ไม่ถึง 80 ดีกรี สามารถดื่มหรือกินได้ เช่น ไวน์ เบียร์ สุราขาว วิสกี้ บรั่นดี โดยองค์การสุราไม่ได้เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย

ส่วนอุตสาหกรรมประเภทเอทิลแอลกอฮอล์ จัดเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตแอลกอฮอล์ที่มีแรงดีกรีตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และเอทิลแอลกอฮอล์แปลงสภาพ โดยที่เอทิลแอลกอฮอล์แปลงสภาพ กรมสรรพสามิตได้เปิดเสรีให้เอกชนสามารถผลิตและจัดจำหน่ายได้ ส่วนกรณีของเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ กรมสรรพสามิตได้แบ่งใบอนุญาตออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. เอทิลแอลกอฮอล์ที่ขายในประเทศ ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่มีดีกรีสูงกว่า 80 แต่เป็นการขายในประเทศ ซึ่งองค์การสุรา ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจถือเป็นเป็นผู้ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ได้รับใบอนุญาตในการขายภายในประเทศอย่างถูกต้อง

2. เอทิลแอลกอฮอล์เพื่อส่งออก จะผลิตเอทิลแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่มีดีกรีสูงกว่า 80 แต่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น ประเภทนี้เอกชนสามารถผลิตและจำหน่ายได้ หากจะนำมาขายในประเทศ ต้องแปลงสภาพเป็นเอทิลแอลกอฮอล์แปลงสภาพเสียก่อน จึงจะนำมาขายในประเทศได้

3. เอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตเอทานอล 99.5 ดีกรี ขายให้โรงกลั่นน้ำมันเพื่อใช้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เอกชนสามารถผลิตและจำหน่ายได้

ทิศทางขององค์การสุราในอนาคต

องค์การสุรายังคงเดินหน้าที่จะพัฒนาการผลิตแอลกอฮอล์ให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น พร้อมกับทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการเปลี่ยนทิศทางกระบวนการผลิต ให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญขององค์การสุราคือการเปลี่ยนผ่านวิถีกระบวนการผลิตให้เกิดความยั่งยืนโดยใช้สิ่งเหลือทิ้งจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งฟางข้าว กากอ้อย ซังข้าวโพด และเปลือกไม้ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอลจากเซลลูโลสเชิงพาณิชย์ (2G: 2nd Generation) ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่จากการนำของเสียที่ไม่เกิดประโยชน์กลับมาใช้ใหม่

เดิมทีกระบวนการผลิตเอทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง จะผลิตได้จากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี โดยมีเอทิลีน ethylene เป็นวัตถุดิบ และกระบวนการทางชีวเคมี โดยใช้พืชผลที่มีแป้งและน้ำตาลสูงเป็นวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง อ้อย กากน้ำตาล เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบที่มีเซลลูโลสสูง เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อย หญ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตรและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ทำให้วัตถุดิบเหลือทิ้งเกิดมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการผลิตเชื้อเพลิง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

องค์การสุราเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ที่จะพาไปถึงการป้องกันการเผาทิ้งของวัสดุชีวภาพทางการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 การผลิตเอทานอลจากเซลลูโลส จึงตอบสนองต่อการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ รวมถึงสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรและประเทศไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ องค์การสุรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ หรือไบโอเจ็ต (Biojet Fuels) ซึ่งผลิตจากน้ำมันจากพืช หรือชีวมวล หลังจากที่ทั่วโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ตระหนักถึงปัญหาการใข้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ส่งผลต่อการาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป เริ่มใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก และออกร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อปรับปรุงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการขนส่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 พร้อมควบคุมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสายการบินพาณิชย์ที่บินผ่านน่านฟ้าของสหภาพยุโรป อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยั่งยืน ซึ่งการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพจึงเป็นพลังงานทดแทนที่มีส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

ทิศทางของการปรับเปลี่ยนพลังงานทดแทนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อความยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญที่องค์การสุราพยายามพัฒนาควบคู่ไปกับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการใช้ในทุกอุตสาหกรรม การดำเนินการทั้ง Cellulosic Ethanol และ Biojet Fuels จะทำให้ประเทศไทยเกิดพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่หาได้ในไทย ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง อันเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกับความยั่งยืนด้านพลังงานในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend