BUSINESS

เครือสหพัฒน์ ยอมรับ ต้นทุนพุ่งสูงต่อเนื่องจนสุดอั้น อยู่ระหว่างเจรจารัฐ ขอขึ้นราคาสินค้า

หากยังควบคุมราคา เกรงเกิดการขาดแคลนเพราะผู้ผลิตต้องลดการผลิต ย้ำพยายามไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนโดยทยอยปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยผ่านสื่อเป็นครั้งแรก ถึงกรณีการเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า โดยระบุว่า จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลังจากต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม น้ำมัน ทยอยปรับขึ้นทั้งหมด โดยขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาขอปรับขึ้นราคากับกระทรวงพาณิชย์ แต่จะปรับขึ้นเท่าไหร่นั้น ยังอยู่ในช่วงของการพิจารณาราคาวัตถุดิบว่าจะขึ้นไปแค่ไหน เนื่องจากขณะนี้ราคาวัตถุดิบยังพุ่งต่อเนื่อง

ส่วนอีกสินค้าควบคุมที่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคา คือ ผงซักฟอก เพราะต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน จากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้สินค้าทุกอย่างขึ้นราคาหมด จนบริษัทฯแบกรับต้นทุนไม่ไหว แต่จะพยายามไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ด้วยการทยอยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ คาดว่าหากรัฐบาลยังควบคุมการปรับขึ้นราคาสินค้าต่อไป มีโอกาสจะทำให้สินค้าขาดแคลน เพราะผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตลง หรือชะลอการผลิต ทำให้เกิดการกักตุนสินค้าจนนำไปสู่การขาดตลาด เว้นแต่จะให้ทยอยปรับขึ้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า อยู่ที่ 40.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.6 , โอกาสการหางานทำอยู่ที่ 37.8 และรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 48.5 ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดงลง นายธนวรรธน์ ระบุว่า เนื่องจากผู้บริโภคกังวลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากรัฐบาลเลิกตรึงราคาที่ 30 บาท/ลิตร และทยอยปรับขึ้นไปโดยมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร ทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายและมีการเปิดประเทศ

นายธนวรรธน์ ยังแสดงความกังวลต่อกรณีที่ตัวเลขดัชนีค่าครองชีพของเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 6.1 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 17 ปี 1 เดือน ขณะที่ ดัชนีรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 48.5 ต่ำสุดในรอบ 23 ปี 8 เดือน โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ดัชนียังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะปัญหาค่าครองชีพที่สูง รายได้ไม่เพิ่มขึ้น การจ้างงานยังไม่เพิ่มขึ้น และยังกังวลน้ำมันจะแพงขึ้นอีก ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน จึงต้องติดตามว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3% ปีนี้หรือไม่

Related Posts

Send this to a friend