BUSINESS

สถานทูตออสเตรเลีย ร่วมกับ MLA จัดสัมมนา ร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเนื้อวัวไทยสู่ความยั่งยืน

สถานทูตออสเตรเลีย ร่วมกับ MLA หรือ องค์กรทางการตลาด การวิจัย และการพัฒนาชั้นนำที่มุ่งเน้นให้บริการกับอุตสาหกรรมเนื้อแดง และปศุสัตว์ของออสเตรเลีย จัดงานสัมมนา “ความยั่งยืนของเนื้อวัวออสเตรเลีย: ความรู้และประสบการณ์ เพื่ออุตสาหกรรมเนื้อวัวในประเทศไทย” โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และสหกรณ์ เข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และเดินหน้าความร่วมมือของทั้งสองประเทศ เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หวังสร้างอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่เติบโตอย่างยั่งยืนในไทย

การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นเพื่อแบ่งปัน มาตรการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการดำเนินการโดยอุตสาหกรรมเนื้อแดงของออสเตรเลีย ทั้งในเชิงกรอบการทำงาน เพื่อความยั่งยืนของเนื้อวัวออสเตรเลีย (Australian Beef Sustainable Framework) และเป้าหมายระยะยาว ในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2030

นายจาคอบ เบทรอส ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน ของเนื้อวัวออสเตรเลียของ MLA กล่าวว่า “ในปี ค.ศ. 2017 อุตสาหกรรมเนื้อแดงของออสเตรเลีย ได้กำหนดเป้าหมายในการบรรลุ ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2030 (CN30) โดยส่งสัญญาณชัดเจนถึงรัฐบาล ตลาดโลก และผู้บริโภคว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ กำลังดำเนินมาตรการเชิงรุก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มปริมาณผลผลิตในระยะยาว ทั้งนี้มาตรการดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมเนื้อแดงก้าวหน้าไปไกลกว่า ความคาดหวังของตลาด ในเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตเนื้อแดง เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก นอกจากนี้นวัตกรรมด้าน CN30 ยังช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งในการเพิ่มปริมาณผลผลิต และผลกำไรผ่านตลาดคาร์บอนหรือห่วงโซ่อุปทานระดับพรีเมียม”

นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอ ตัวอย่างการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ในออสเตรเลียของ เจนนี โอ ซัลลิแวน เกษตรกรผู้เลี้ยง วัว และ แกะ จากรัฐวิกตอเรีย โดยบอกเล่าประสบการณ์ ในการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันก็มีการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างแหล่งรายได้ ครอบครัวของเจนนี มีส่วนร่วมในโครงการสิ่งแวดล้อม และคาร์บอนในฟาร์มของพวกเขามากว่า 30 ปี ทำให้เธอเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในคณะกรรมการเพื่อความยั่งยืนของ ABSF (ABSF Sustainability Steering Group)

นายสเปนเซอร์ วิทเทกเกอร์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาตลาด ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ MLA กล่าวว่า “ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นตลาด ที่ออสเตรเลียส่งออกเนื้อวัวมาก เป็นอันดับที่ 8 พบว่าประเทศไทยมีความต้องการ เนื้อแดงคุณภาพเพิ่มขึ้น อย่างมากมาโดยตลอด แม้จะได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม ทั้งนี้ความต้องการในการนำเข้า เนื้อแดงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 โดยมีปัจจัยจากผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่มีกำลังซื้อมีจำนวนมากขึ้น”

“รวมถึงภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ออสเตรเลียเป็นผู้จำหน่ายเนื้อวัวและเนื้อแกะ นำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์แช่แข็งทั้งหมด ทั้งนี้การยกเลิกภาษี และการจำกัดจำนวน การนำเข้าสินค้าตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2020 ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี ระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย (TAFTA) และข้อตกลงระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (AANZFTA) เป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมการค้าเนื้อแดง และจะยังคงทำให้การค้าเติบโตต่อไปได้ในอนาคต”

ฯพณฯ ดร.แอนเจลา แม็คโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความสำคัญของเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ต่อทั้งประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย โดยทั้งสองประเทศมีโอกาสในการเรียนรู้ และร่วมมือกันด้านนี้อย่างมาก โดยภาคเกษตรมีความสำคัญ ต่อทั้งสองประเทศ ทั้งในแง่การสร้างงานและการส่งออก รวมทั้งยังมีสภาพภูมิอากาศ ที่คล้ายคลึงกันเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ซึ่งสามารถดำเนินงานด้านนี้ ร่วมกันได้มากยิ่งขึ้น เกษตรกรรมที่ยั่งยืนมิใช่การหาวิธีการเพียงวิธีเดียว เพื่อใช้กับทุกปัญหาและทุกบริบท ทั้งนี้ยังกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมกันแสวงหาวิธีการเพื่อความยั่งยืน

ขณะที่ แอมเบอร์ พาร์ ที่ปรึกษา ผ่ายเกษตร กล่าวว่า วิธีคิดของออสเตรเลีย ในการจัดการความยั่งยืนทางการเกษตร โดยเกษตรกรได้เผชิญความท้าทาย ที่จะต้องเน้นทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมทั้งผู้บริโภคก็ต้องตัดสินใจ ในการบริโภคที่ช่วยผลักดัน ให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ออสเตรเลียได้ดำเนินการสู่ความยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบหน่วยวิจัยและพัฒนาของท้องถิ่น

ซึ่ง Meat and Livestock Australia เป็นพันธมิตรที่สำคัญการดำเนินการนี้ ตั้งแต่การวิจัย การให้การศึกษา และการเพิ่มขีดความสามารถ ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่ง ที่ผู้เชี่ยวชาญของออสเตรเลียได้มาถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ กับผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทย นอกจากนี้ในระดับนานาชาติ ออสเตรเลียยังตระหนัก ถึงความสำคัญของวิธีการ ในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ออกแบบตามความต้องการเฉพาะตัว รวมทั้งยินดี ที่จะร่วมมือกับประเทศไทย และนานาประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

Related Posts

Send this to a friend