BUSINESS

ท่าเรือแหลมฉบัง เร่งพัฒนา Smart Port มุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City

ท่าเรือแหลมฉบัง เร่งแผนพัฒนาศักยภาพท่าเรือเต็มขั้น เดินหน้าพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วยนโยบายการบริหารการจราจรและการบูรณาการข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลระยะ 3 ปี เชื่อมโยงข้อมูลขนส่งทั้งทางถนน  เรือ  ราง เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ พัฒนาจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งและรองรับการขยายตัวทางเศษฐกิจในอนาคตพร้อมตั้งเป้าเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก

จากวิสัยทัศน์ของท่าเรือแหลมฉบังที่ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” โดยที่ผ่านมาท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) โดยเฉพาะการใช้การขนส่งทางราง และทางน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายภายในประเทศที่เชื่อมโยงไปสู่ประตูการค้าระหวางประเทศ เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ผลักดันนโยบายการบริหารการจราจร และการบูรณาการด้านข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อดำเนินการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง มุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City โครงการพัฒนา smart city จะเข้ามาช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ แก้ปัญหาจราจร ลดมลพิษ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง

เร่งพัฒนา Smart Port สู่เมืองอัจฉริยะในท่าเรือ

ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลกนั้น กระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ(Smart City) ด้วยนโยบายการบริหารการจราจรและการบูรณาการข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลระยะ 3 ปีเชื่อมโยงข้อมูลขนส่งทั้งทางถนน – เรือ – ราง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้า

โดยระบบดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางเรือและทางรางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายเรือ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้า ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ Smart Port Traffic (ระบบจัดการข้อมูลการจราจร) Smart Port EDI (ระบบเชื่อมต่อ Big Dataจากระบบต่าง ๆ) Smart Port Payment ระบบชำระเงินแบบ QR Code) เป็นต้น

Smart Port System ลดต้นทุนโลจิสติกส์

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการขนส่ง ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลากหลายรูปแบบ หรือ Multimodal Transportation ทั้งเพื่อการส่งออกและนำเข้า ครอบคลุมการขนส่งทางเรือและรถบรรทุก เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลสำหรับผู้ให้บริการท่าเรือ รถไฟ รถบรรทุกขนส่งสินค้า ผู้ให้บริการคลังสินค้า ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจผู้นำเข้า-ส่งออก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านอื่นๆ

สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาประยุกต์ใช้กับท่าเรือแหลมฉบังจะให้ข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ และสามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูล Big Data ที่สำคัญ เพื่อพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ(Smart Port System) และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นฐานข้อมูลด้านการขนส่งของท่าเรือแหลมฉบังและภาคตะวันออก 

อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีการจัดเก็บและการบริหารฐานข้อมูล รองรับการทำงานระหว่างหน่วยงาน และการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมขนส่ง และประชาชนในชุมชนโดยรอบ

ยกระดับการบริหารจัดการด้วยแพลตฟอร์ม

ในการพัฒนา Smart City ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะเป็นการต่อยอดระบบจองคิวรถบรรทุก หรือระบบ Truck Queue ของท่าเรือแหลมฉบัง โดยยกระดับให้เป็นภาพรวมการบริหารจัดการด้วยแพลตฟอร์ม และวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้กรอบการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองของดีป้า ซึ่งมีแหล่งข้อมูลต้นทางจากข้อมูลการเดินรถ ข้อมูลจากหัวรถลาก ข้อมูลตู้คอนเทนเนอร์ ข้อมูลตารางเรือ สายการเดินเรือ และอื่นๆ จากท่าเรือเอกชนรวมถึงข้อมูลประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจราจรภูมิอากาศ CCTV และข้อมูลที่ได้จากระบบให้บริการที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่

โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดการผ่าน Smart Port Xchange Engine ซึ่งมีองค์ประกอบหลักตามกรอบการพัฒนาคือ Data Catalog, Data Exchange และ Data Governance จากนั้นจะนำมาสร้างเป็นบริการใหม่ได้แก่ Smart Port Traffic, Smart Truck, Smart Port e-Payment, Smart Backhaul และ Smart Port Analytics รวมทั้งให้บริการ Open Data สำหรับผู้ที่สนใจ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการปรับเปลี่ยนการทำงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และเหมาะสม

ท่าเรือแหลมฉบังในวันข้างหน้าพร้อมพัฒนาครบทุกมิติ

ท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งท่าเรือแหลมฉบัง มีวิสัยทัศน์ คือ “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573”

ท่าเรือแหลมฉบัง มีโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม และวิสัยทัศน์องค์กร ดังนี้ 1. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 2. โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และ 3. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หากมีการพัฒนาครบทุกมิติจะทำให้การเกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ยังมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าทางน้ำให้แก่ประเทศ เพื่อเน้นย้ำถึงจุดยืนการเป็นเกตเวย์หลักในภูมิภาค การเป็นศูนย์กลางทางการค้า อีกทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นท่าเรือที่ล้ำสมัยด้วยการบริหารจัดการ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

ท่าเรือแหลมฉบัง ได้พัฒนาศักยภาพอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาท่าเรือไปสู่ความเป็นท่าเรือสากลที่มีศักยภาพสูงและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่การเป็นฮับการขนส่งและโลจิสติกส์อาเซียน ด้วยมาตรฐานระดับสากล

Related Posts

Send this to a friend