BUSINESS

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) รับลูกรองนายกฯ จุรินทร์ กำหนด 4 กลยุทธ์หลัก ขับเคลื่อนส่งออกปี 63

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) รับลูก รองนายกฯ จุรินทร์ กำหนด 4 กลยุทธ์ ผลักดันส่งออกเชิงรุกในปี 63 เตรียมเดินหน้าขยายการส่งออกเจาะเป็นรายตลาด นำทีมโดยเซลส์แมนประเทศ พร้อมรุกใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มโอกาสส่งออกให้สินค้าไทย เล็งปั้นผู้ส่งออกเลือดใหม่ ช่วยพัฒนาเป็นรายกลุ่มลงลึกถึงระดับนักศึกษา เผยยังมีแผนสร้างภาพลักษณ์สินค้า ดันธุรกิจบริการไทย ปิ๊งนำ AI ช่วยพัฒนาข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ส่วนผลงานปี 62 อัด 300 กิจกรรม ช่วยผู้ประกอบการกว่า 1.1 แสนราย สร้างมูลค่าการค้า 1.4 แสนล้านบาท

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยถึงแผนผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการไทยในปี 2563 ว่า กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมี 4 กลยุทธ์หลัก เพื่อเร่งรัดการส่งออกเชิงรุก คือ

1.การพัฒนาช่องทางตลาด
2.การพัฒนาผู้ประกอบการ
3.การพัฒนาสินค้า/ธุรกิจบริการ
4.การพัฒนาระบบให้บริการภายในองค์กร

ด้านการพัฒนาช่องทางตลาด

จัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปขยายตลาด ได้แก่ ตลาดเดิม (จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป) ตลาดใหม่ (อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังคลาเทศ แอฟริกาใต้) ตลาดฟื้นฟู (ตะวันออกกลาง) โดยจะเจาะตลาดลงลึกรายมณฑล รายรัฐในตลาดที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะนำทีมโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะ “เซลส์แมนประเทศ” และมีผู้ประกอบการในสาขาต่างๆ เข้าร่วม

ส่วนแนวทางการขยายตลาดอื่นๆ จะเน้นจัดกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้าและนักธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อสร้างความต้องการสินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทย (Overseas Demand Creation) ขยายความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำของไทย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าที่ผ่านการบ่มเพาะจากกรมฯ ขยายร้าน TOPTHAI Flagship Store เพิ่มเติม เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยในจีน และจะขยายบนแพลตฟอร์มในตลาดอื่นๆ อาทิ Bigbasket (อินเดีย) Amazon.com (สหรัฐฯ) Amazon.jp (ญี่ปุ่น) และ Presto Mall (มาเลเซีย) เป็นต้น จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ (Online In-Store Promotion) รวมทั้งยกระดับงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศสู่การเป็นงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจยิ่งขึ้น อาทิ STYLE / BGJF / THAIFEX-ANUGA ASIA เป็นต้น

การพัฒนาผู้ประกอบการ

ผลักดันกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ให้เป็นผู้ส่งออก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม Start up กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่ม Niche และยังมีแผนร่วมมือกับสถาบันการศึกษา (Co-course) จัดทำหลักสูตรการศึกษาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ การส่งออก การเจรจาธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาที่จะก้าวมาเป็นผู้ส่งออกรุ่นใหม่ รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสร้างผู้ช่วยขายออนไลน์ ร่วมกับสถาบันปัญญาภิวัฒน์ สร้างนักค้าออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ

การพัฒนาคุณภาพสินค้าและธุรกิจบริการ

เน้นการสร้างแบรนด์ ‘ประเทศไทย’ ผ่านตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพต่างๆ ได้แก่ TMark / DEMark / PM-Award / Thai Select / ELMA อย่างต่อเนื่อง บ่มเพาะแบรนด์ไทย รุกตลาด Luxury-Premium ในตลาดเป้าหมาย อาทิ จีน อินเดีย อาเซียน โดยจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบออนไลน์ ส่งเสริมธุรกิจบริการศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น

– ดิจิทัลคอนเทนท์ จะเชิญ Animator หรือ Cartoon Creator ชาวไทยในบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่

– ธุรกิจบริการสุขภาพ จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่ง สธ. อยู่ระหว่างเสนอให้มีการตรวจลงตราประเภท Medical Visa ชนิดใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง คราวละไม่เกิน 1 ปี

– ธุรกิจ Start up จะบ่มเพาะผู้ประกอบการ และขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีเป้าหมาย อาทิ อินโดนีเซียและเกาหลีใต้

– ธุรกิจโลจิสติกส์ จะร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ในต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์และธุรกิจสนับสนุนและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Institutional Services and Related) จะจัดคณะเดินทางและเข้าร่วมงานแสดงในต่างประเทศ สร้างโอกาสและต่อยอดธุรกิจของไทยสู่ตลาดโลก

การพัฒนาภายในองค์กร ระบบให้บริการ

พัฒนาฐานข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อยอด DITP Business AI ให้มีประสิทธิภาพ เน้นให้สามารถใช้งานง่าย ขยายขอบเขตและความหลากหลายของฐานข้อมูล ทันต่อสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ส่งผลให้การตัดสินใจของผู้ส่งออกมีความแม่นยำและชัดเจนยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย

นายสมเด็จกล่าวว่า สำหรับผลงานในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกกว่า 300 กิจกรรม มีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนากว่า 110,000 ราย สร้างมูลค่าให้กับประเทศประมาณ 140,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการได้รับรางวัลต่างๆ จากรมฯ (T Mark / DEMark / PM Award / ELMA) จำนวน 129 ราย ร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้รับตรา Thai SELECT 1,423 แห่ง ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปที่ได้รับตรา Thai SELECT 563 รายการ จาก 53 บริษัท

Related Posts

Send this to a friend