ASEAN

ชาวไทใหญ่ร่วมทำบุญไว้อาลัย ‘เจ้าสุจั่นตี’ เผยเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 น.ส.จ๋ามตอง ชาวไทใหญ่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับครอบครัวเจ้านางสุจั่นตี มหาเทวีแห่งสี่ป้อหรือที่คนไทใหญ่รู้จักกันในชื่อ เจ้าแม่อิงเง หรือชื่อเดิมคืออิงเง เซอร์เจน ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้านางสุจั่นตี มีผู้ร่วมงานหลากหลายโดยได้มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติและทำพิธีทางศาสนาพร้อมทั้งอ่านประวัติ

นอกจากนี้ได้มีการพูดถึงชีวิตโดยในวันนี้บนดอยก่อวัน (ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย) ก็มีการจัดงานโดยถวายเพลและจุดเทียนเพื่อไว้อาลัยและอ่านประวัติเพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับรู้
 
“เราได้เห็นประชาชนหลากหลายมาร่วมงาน รวมทั้งพระสงฆ์ไทใหญ่จากวัดต่างๆ เดินทางมาร่วมด้วย บางส่วนเป็นแรงงานซึ่งต้องหยุดงานเพื่อมาร่วมทำบุญครั้งนี้ ถือว่าเป็นงานรวมน้ำใจครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คนไทใหญ่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจ พวกเขาอยากมาร่วมแต่มาไม่ได้เพราะมีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง” น.ส.จ๋ามตอง กล่าว
 
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่วัดป่าเป้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้านางสุจั่นตี ซึ่งจากไปด้วยโรคชราในวัย 91 ปีตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น.จนถึงเวลา 11.30 น. มีการฟังธรรมเทศนาแบบชาวไทใหญ่ และทำบุญถวายเพลให้กับพระสงฆ์ รวมถึงเล่าประวัติความเป็นมาของเจ้านางสุจั่นตี่ โดยมีประชาชนชาวไทใหญ่หลากหลายอาชีพได้มาร่วมงาน
 
นายจายแลง ชาวไทใหญ่จากเมืองล่าเสี้ยว ทางเหนือของรัฐฉาน 1ในผู้ที่มาร่วมงาน กล่าวว่ารู้สึกเสียใจกับครอบครัวของเจ้านางสุจั่นตีโดยตนได้รับรู้เรื่องราวของเจ้านางสุจั่นตีเมื่อตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นจากแม่ เนื่องจากเรื่องราวของเจ้านางสุจั่นตีและเจ้าฟ้าสีป้อนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะแต่ในรัฐฉานเท่านั้น การมาร่วมงานในวันนี้ เพื่อแสดงถึงความเคารพเป็นครั้งสุดท้ายต่ออดีตมหาเทวีสีป้อ  
 
“ทุกคนในรัฐฉานต่างรู้จักท่านทั้งสองผ่านการบอกเล่าจากคนรุ่นก่อนหรือรับรู้เรื่องราวของท่านจากประวัติศาสตร์ของเรา ผมไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว แต่อยากมาช่วยงานเท่าที่ช่วยได้ และมาแสดงความเคารพและระลึกถึงต่อท่านเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะที่ท่านเคยเป็นมหาเทวีของเรา เรื่องราวชีวิตของท่านและเจ้าฟ้าสีป้อที่ต้องพลัดพรากจากกัน ต่างก็ทำให้ทุกคนที่ได้รับรู้ ต่างก็รู้สึกขมขื่นไปตามๆ กัน” จายแลงกล่าว
 
อนึ่ง เจ้าเจ่าแสง เจ้าฟ้าเมืองสี่ป้อ ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเหมืองแร่โคโรลาโดระหว่างปี ค.ศ. 1949-1953 และเรียนจบด้านวิศกรรมเหมืองแร่ โดยระหว่างที่เรียนอยู่ที่สถาบันแห่งนี้ได้พบรักกับอิงเง เซอร์เจน นักเรียนทุนจากประเทศออสเตรีย และทั้งสองได้แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1953 โดยที่อิงเง ไม่ทราบมาก่อนว่าคนรักคือเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน จากนั้นจึงเดินทางกลับมายังรัฐฉาน โดยนางอิงเง เซอร์เจนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาเทวีในเวลาต่อมาในชื่อ เจ้าทุซานดี หรือเจ้าสุจั่นตีในภาษาไทใหญ่ แต่ประชาชนมักเรียกว่า “เจ้าแม่” ทั้งสองพระองค์ถือเป็นเจ้าฟ้านักพัฒนารุ่นใหม่หัวก้าวหน้าของรัฐฉานในช่วงเวลานั้น
 
หลังย้ายมาอยู่รัฐฉาน มหาเทวีสุจั่นตีได้เรียนภาษาไทใหญ่และพูดสื่อสารได้คล่องแคล่ว และยังมุ่งเน้นทำงานพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขของคนเมืองสี่ป้อ แต่หลังนายพลเนวินและกองทัพพม่ายึดอำนาจในปี ค.ศ. 1962 เจ้าฟ้าส่วนใหญ่ถูกจับกุมและถูกคุมขัง เช่นเดียวกับเจ้าจ่าแสงที่ถูกทหารพม่าจับกุมและหายสาบสูญจนถึงทุกวันนี้ มีการพบเห็นเจ้าจ่าแสงครั้งสุดท้ายที่ด่านทหารแห่งหนึ่งใกล้เมืองตองจี และนับจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวของเจ้าจ่าแสงอีกเลย

ในขณะที่นางอิงเง เซอร์เจน นั้นถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพัก จนในปี ค.ศ. 1964 จึงตัดสินใจพาธิดาทั้งสองเดินทางออกจากพม่ากลับไปประเทศบ้านเกิด และต่อมาย้ายไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
อิงเง เซอร์เจนหรือเจ้าสุจั่นตี ได้ทำงานอยู่ที่โรงเรียนมัธยมจนกระทั่งเกษียณ โดยได้ก่อตั้งองค์กร Burma Lifeline เพื่อทำงานการกุศลช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามชายแดน นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งรางวัล Sao Thusandi Leadership Award ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถและทำเพื่อภาคประชาสังคม วัฒนธรรม สันติภาพ และเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในรัฐฉานอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend