AROUND THAILAND

รองฯทวีศักดิ์ นำทีมเยี่ยมชมอุโมงค์ฯผันน้ำแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (22 มิ.ย. 66) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ประธานฝ่ายไทย และ Mr. Park Tae Seon ผู้อำนวยการ บริหารการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร หน่วยงานพัฒนาชุมชนชนบทแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Rural Community Corporation : KRC) ประธานฝ่ายเกาหลี พร้อมคณะ ร่วมรับฟังผลการดำเนินงาน ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้า งานก่อสร้างอุโมงค์ช่วงแม่แตง-แม่งัด ตามลำดับ

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำ ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วงที่ 1 จากลำน้ำแม่แตงไปเก็บไว้ที่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วงที่ 2 จากอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ ไปลงอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ ให้อยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ ให้กับพื้นที่ด้านท้ายตลอดทั้งปี โดยปริมาณน้ำที่ผันไปจากลำน้ำแม่แตง จะเป็นปริมาณน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน ที่ในบางปีจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม การนำน้ำส่วนเกินดังกล่าว ไปใช้จึงช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดด้วย

ทั้งนี้อุโมงค์ผันน้ำมีความยาวรวมทั้งสิ้น ประมาณ 49 กิโลเมตร โดยอุโมงค์ช่วงที่ 1 (ช่วงแม่แตง-แม่งัด) จะมีความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร ผันน้ำได้ปีละประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปเก็บไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นปริมาณน้ำดังกล่าวจะรวมกับ ปริมาณน้ำที่เกินความต้องการของเขื่อนแม่งัดฯ อีกปีละประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งผ่านอุโมงค์ช่วงที่ 2 (ช่วงแม่งัด-แม่กวง) ที่มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ไปเติมให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เขื่อนมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เพียงพอ ที่จะจัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่ด้านท้ายได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

ปัจจุบันโครงการฯมีความคืบหน้า ไปแล้วกว่าร้อยละ 76 หากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ของอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ในลุ่มน้ำกวง ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำ ในช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทาน ด้านท้ายอ่างฯได้ประมาณ 175,000 ไร่ และในฤดูแล้งยังส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร ได้มากขึ้นจากเดิม 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น จากเดิมปีละประมาณ 13.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร

ที่สำคัญช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และลดความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ในช่วงฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้อีกกว่า 14,550 ไร่ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ในพื้นที่โดยรอบโครงการฯให้มีความมั่นคงด้านน้ำ อันจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

Related Posts

Send this to a friend