AROUND THAILAND

ศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ เสนอเกณฑ์การผันน้ำเข้าทุ่ง ย้ำ ต้องไม่กระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ คาด เริ่มผันได้ 30 ก.ย.นี้

สำนักงานโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาผักไห่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 พร้อมด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาหารือแนวทางระบายน้ำเข้าทุ่งภาคกลาง 10 ทุ่ง ตามแผนบริหารจัดการน้ำ

ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ยืนยันว่าจะระบายน้ำลงทุ่งแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการรับน้ำฝนรอบใหม่ ที่คาดว่าร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนลงมาภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกเยอะมาก ล่าสุดพบว่า 7 ทุ่ง ประกอบด้วย ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางบาล ทุ่งบ้านแพน ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 กล่าวว่า หากเร่งระบายน้ำเข้าช่วงนี้ เกรงว่าเมื่อฝนตกชุก จะไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับน้ำท้ายเขื่อน และน้ำ Sideflow ในพื้นที่ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ไปทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน โดยที่ประชุมเสนอให้เริ่มดำเนินการผันน้ำเข้าทุ่งเริ่มวันที่ 30 กันยายนนี้

ส่วนการตัดยอดน้ำ ให้พิจารณาจากสถานการณ์ปริมาณของน้ำ ที่จะต้องไม่กระทบกับพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ขณะที่ปริมาณการรับน้ำ ขึ้นอยู่ที่กายภาพแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีประกาศแจ้งเตือนประชาชนก่อนจะผันน้ำเข้าทุ่งอีกครั้ง แต่คาดว่าน้ำเหนือสูงสุดในปีนี้ อาจอยู่ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อาจปล่อยน้ำสูงที่ 2,200-2,400 ลบ.ม/วินาที

ด้านนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มเป็น 1,989 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ตำบลภูเขาทอง ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20 ซม. ประชาชนต้องใช้เรือเป็นพาหนะ นอกจากนี้ อบจ.พระนครศรีอยุธยา ยังได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมทั้ง 6 อำเภอด้วย

Related Posts

Send this to a friend