AROUND THAILAND

อธิบดีกรมปกครอง ยันโรงงานพลุระเบิด สุพรรณบุรี ขอใบอนุญาตถูกต้อง-ต่อใบอนุญาตทุกปี

ย้ำยังไม่ทราบสาเหตุ กำชับตรวจสอบทั่วกรุงเทพ หวั่นซ้ำรอย เล็งตั้งกองทุนช่วยเหลือ เบื้องต้นเยียวยารวม 350,000 บาทต่อราย

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึงการตรวจสอบใบอนุญาตเหตุโรงงานพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี จนมีผู้เสียชีวิตหลายรายว่า ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2564 และต่อใบอนุญาตทุกปี ผ่านการอนุมัติจากนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี โดยผู้ขออนุญาตไม่มีประวัติอาชญากรรม สถานที่ตั้งโรงงานเป็นไปตามระเบียบของกฎหมายผังเมือง ผ่านการทำประชาคมจากชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ กทม. ตนได้ให้ตรวจสอบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ส่วนสาเหตุพลุระเบิด นายอรรษิษฐ์ ระบุว่าตนยังไม่ทราบ ขณะนี้ยืนยันแล้วว่ามีผู้เสียชีวิต 23 ราย และเมื่อเช้าพบเพิ่มอีก 2 รายที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ โดยนิติวิทยาศาสตร์ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ก่อนนำร่างไปพิสูจน์อัตลักษณ์ พร้อมย้ำว่าการตั้งโรงงานดังกล่าวได้รับการอนุญาตถูกต้อง และมีการกำชับแล้ว ส่วนจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายผู้ใดนั้น ต้องตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงก่อน

เมื่อถามว่าโรงงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุระเบิดแล้วเมื่อปี 2565 และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำไม่ถึงได้รับการอนุญาตตั้งโรงงาน อธิบดีกรมการปกครอง ย้ำว่า การได้รับอนุญาตจะต้องขอพื้นที่และทำประชาคมรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดผ่านกระบวนการแล้ว ฉะนั้นขอให้ทางเจ้าหน้าที่ EOD ตรวจสอบหาสาเหตุก่อน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงมีคนไปรวมตัวภายในโรงงานดังกล่าว 23-25 คน ซึ่งไม่รู้ว่ามีงานเลี้ยงหรืออะไรหรือไม่ก่อนเกิดเหตุ

ขณะที่หลังเกิดเหตุ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใย และสั่งการจังหวัดให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา นอกเหนือหน่วยงานกระทรวงอื่นด้วย

ประเด็นที่มีการตั้งคำถามว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาน้อยไปหรือไม่ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า จะมีการหาหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่และมีบุตรที่ต้องศึกษาเล่าเรียน จึงต้องดูว่าจะมีการตั้งกองทุนเพื่อมาดูแลหรือไม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีรับเรื่องไปพิจารณาแล้ว

สำหรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นประกอบด้วย

1.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม กรณีฉุกเฉิน ครอบครัวละ 3,000 บาท

2.ราชประชานุเคราะห์ฯ มีค่าทำศพ 10,000 บาท

3.กระทรวงแรงงาน โดยหน่วยงานจัดหางาน คุ้มครองแรงงาน ผู้ประกันตนและผู้ขึ้นทะเบียน จะช่วยเหลือด้วย

4.กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี แบ่งเงินช่วยเหลือเป็น ค่าจัดการศพ 50,000 บาท ทุนเลี้ยงชีพครอบครัว 30,000 บาท มีบุตรไม่เกิน 25 ปี ได้อีก 50,000 บาท ทุนเลี้ยงชีพกรณีบาดเจ็บสาหัส 30,000 บาทขึ้นไป เลี้ยงชีพ 15,000 บาท

5.กระทรวงยุติธรรม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่สอง) พ.ศ.2559 โดยอยู่ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (ผู้ว่าฯ เป็นประธาน) พิจารณาช่วยเหลือรายละไม่เกิน 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฯ

6.หน่วยงานท้องถิ่น (ประกาศภัย) เงินค่าปลงศพ 29,700 บาท ส่วนถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว จะได้เพิ่มอีกเท่าตัว คิดเป็น 59,400 บาท

Related Posts

Send this to a friend