AROUND THAILAND

มท.1 ประชุมบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม

มท.1 ประชุม บกปภช. บูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มเน้นปฏิบัติการระบายน้ำ – ช่วยเหลือประชาชนเต็มกำลัง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมติดตามและเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวางแนวทางและปรับแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นการประสานการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และสถานที่สำคัญ ควบคู่กับการเชื่อมโยงการระบายน้ำอย่างเป็นระบบในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขังจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ประธานการประชุม บกปภ.ช. เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนกันยายนยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและปริมาณน้ำฝนสะสม ทำให้ลุ่มน้ำต่าง ๆมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำหลากในหลายพื้นที่ อีกทั้งในห้วงที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากปัญหาการระบายน้ำไม่ทันจากปัจจัยน้ำทะเลหนุนและปริมาณน้ำเหนือไหลมาสมทบ

รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย จึงได้กำชับให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกระทรวงมหาดไทย บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มกำลัง ทั้งอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งในวันนี้เป็นการประชุมติดตามและเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ร่วมกับหน่วยงานด้านการพยากรณ์อากาศ หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ หน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อวางแนวทางการจัดการภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มุ่งเน้นการปฏิบัติการอย่างเป็นเอกภาพและประสานการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ โดยให้ทุกจังหวัดใช้ข้อมูลจากหน่วยงานด้านการพยากรณ์อากาศ และหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยในระดับพื้นที่ พร้อมปรับแผนเผชิญเหตุให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัย

สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และสถานที่สำคัญ ให้เร่งระบายน้ำ เปิดทางน้ำ และเชื่อมโยงการระบายน้ำอย่างเป็นระบบในเขตจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แบ่งมอบภารกิจกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัคร ให้เกิดความชัดเจน รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นสำคัญ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ประชาชน จิตอาสา ร่วมสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมทุกจุด หากพบประชาชนได้รับความเดือดร้อนให้จัดชุดปฏิบัติการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งการดำรงชีพ อาหารน้ำดื่ม การรักษาพยาบาล การเดินทางในพื้นที่น้ำท่วมขัง ทั้งนี้ บกปภ.ช.พร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บริหารจัดการปัญหาอุทกภัย ภายใต้กลไกกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 โดยจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเชื่อมโยงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ทั้งการเฝ้าระวัง วิเคราะห์แนวโน้มการเกิดภัย การแจ้งเตือนภัย การประสานปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับในระดับพื้นที่ ทุกจังหวัดได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ปรับแผนเผชิญเหตุอุทกภัยจังหวัดให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ซักซ้อมการปฏิบัติการตามขั้นตอนของแผนเผชิญเหตุ รวมถึงจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับการอพยพประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง ควบคู่กับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19)

ทั้งนี้ ปภ.ได้สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม โดยได้สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 – 18 จัดกำลังพลและทรัพยากรด้านสาธารณภัยเข้าประจำการในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ล่วงหน้า โดยสนับสนุนจังหวัดปฏิบัติการเชิงป้องกัน ทั้งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและพร่องน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ รวมถึงกระจายเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยากและจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมปฏิบัติการทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยและสามารถดำเนินการการแก้ไขฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว..\\

Related Posts

Send this to a friend