AROUND THAILAND

กรมประมง ประกาศ “ฤดูน้ำแดง 2565” คุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ เริ่ม 16 พ.ค. 65

กรมประมง ประกาศมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืด ในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน โดยกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำประมง เพื่อคุ้มครองปลาน้ำจืดให้มีโอกาสได้เติบโตแพร่ขยายพันธุ์ แบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์ของแต่ละพื้นที่ และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับวิถีการทำประมงของชาวบ้าน โดยเริ่มวันแรก 16 พฤษภาคม 2565

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสัตว์น้ำ และระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง) กรมประมงจึงเห็นควร ยังคงใช้ประกาศฉบับเดิม ในการกำหนดพื้นที่ระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง เงื่อนไขในการทำการประมง โดยแบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ในห้วงเวลาและพื้นที่ ดังต่อไปนี้

วันที่ 16 พ.ค. 65 ถึง 15 ส.ค. 65 ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 1 มิ.ย. 65 ถึง 31 ส.ค. 65 ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 1 ก.ย. 65 ถึง 30 พ.ย. 65 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

สำหรับเครื่องมือและวิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ ประกอบด้วย 1)เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน 2)ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป 3) สุ่ม ฉมวก และส้อม 4) ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน 5)แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก หรือ 3 เมตร และ 6) การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง

Related Posts

Send this to a friend