AROUND THAILAND

เปิดเอกสารสิทธิที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จากผู้บุกเบิกเมื่อปี 2440 สู่ยุคปัจจุบัน

ว่ากันด้วยเรื่องเอกสารสิทธิที่ดินเกาะหลีเป๊ะ ของชาวอูรักลาโว้ย จากในอดีตคือผู้บุกเบิก กระทั่งเมื่อปี 2440 ถูกทำให้กลายเป็นผู้บุกรุก และปัจจุบันมีคณะกรรมการของรัฐบาล 2 ชุดที่กำลังแก้ปัญหาเรื่องเกาะหลีเป๊ะ คือคณะกรรมการอํานวยความเป็นธรรม และเร่งรัดการปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรีที่มี คุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดิน ที่เกี่ยวข้องกับยชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก”เป็นประธาน เชื่อว่าหากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เอาจริงเอาจัง ก็จะสร้างความเป็นธรรม ให้กับชุมชนชาวเลผู้บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ และทำให้เกาะแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตัวอย่างของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างธุรกิจการท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่นได้

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีกุศโลบายให้อพยพชาวเล จากเกาะลันตา จ.กระบี่ และเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต มาอยู่เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง เมื่อราว พ.ศ.2440 เพราะเป็นช่วงปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ โดยมีผู้นำชาวอูรักลาโว้ยชื่อว่า “โต๊ะฆีรี” ซึ่งเป็นต้นตระกูลหาญทะเล (นามสกุลพระราชทาน) ทั้งนี้การยืนยันตัวตนว่าอยู่ในเขตแดนสยาม ของโต๊ะฆีรีและชาวเลในครั้งนั้น ทำให้เกาะหลีเป๊ะเป็นส่วนหนึ่ง ของแผ่นดินสยามมาจนถึงวันนี้

“ในอดีตชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ อาศัยอยู่กันอย่างกระจายตัวตามริมทะเล และไม่ได้จับจองเป็นเจ้าของที่ดินตามวิถีของพวกเขา เพราะในบางฤดูมักล่องเรือไปหากินตามเกาะต่างๆ และกลับมาอยู่ที่ชุมชนเมื่อถึงฤดูที่มีพายุ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญ กับเอกสารสิทธิที่ดินเพราะไม่มีเคยรู้ว่ามีความสำคัญต่ออนาคต ตั้งแต่ปี 2510 ได้มีการรวบรวมเอกสาร ส.ค.1 ของชาวเลทั้ง 41 แปลง โดย “คนนอก”ที่เข้ามาซึ่งอ้างว่าจะนำไป ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ชาวเลซึ่งไม่รู้หนังสือและพูดภาษาไทยแทบไม่ได้ ต่างไว้ใจและมอบเอกสาร ให้เขาจนกระทั่งออกเป็น น.ส.3 จำนวน 19 แปลง แต่แทนที่น่าจะได้เป็นชื่อของชาวเล เจ้าของที่ดินในเวลาต่อมา แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น จากคำบอกเล่าของชาวเลที่ให้การไว้ กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 1 ระบุชัดว่าได้มีการข่มขู่กดดันและใช้วิธีการต่างๆนอกกฎหมาย ทำให้ น.ส.3 ตกเป็นชื่อของคนบางกลุ่ม”

ขณะที่พื้นที่อีกจำนวนไม่น้อย ที่อยู่ในการครอบครองของชาวอูรักลาโว้ย เพราะเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถาง แต่ไม่ได้แจ้ง สค.1 ก็ถูกผู้มีอิทธิพลข่มขู่เพื่อบังคับให้ขายในราคาถูก ซึ่งเขาสามารถนำไปออก น.ส.3 ได้ ทำให้ที่ดินตกอยู่ในมือผู้มีอิทธิพล และพรรคพวกเกือบทั้งสิ้น ในยุคหนึ่งใครที่จะซื้อขายที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ต้องผ่านผู้มีอิทธิพลกลุ่มนี้ ซึ่งเขาสามารถประสาน กับระบบราชการได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ในสำนวนของ กสม.ได้ระบุวิถีการที่ผู้ทรงอิทธิพลรายนี้ ใช้หลอก ข่มขู่และคุกคามชาวเล ที่มีชื่อในที่ดินแต่ละแปลงไว้หมด และขณะนี้หลายคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้น ยังมีชีวิตอยู่ ที่น่าสนใจมีอยู่ 1 กรณี ที่ลูกหลานชาวเลแอบบันทึกเสียง การข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลกลุ่มนี้ไว้ได้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2498 ได้มีการแจ้งครอบครองที่ดิน(ส.ค.1 )แปลงที่ 11 เนื้อที่ 50 ไร่ ต่อมาเมื่อออกเป็น น.ส.3 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2517 ขยายเพิ่มเป็น 81-3-40 ไร่ ในที่ประชุมหลายครั้งเมื่อสอบถามตัวแทนกรมที่ดิน ได้รับคำอธิบายว่า ตอนชี้แนวเขต ส.ค.1 ในยุคนั้นเป็นการประมาณด้วยสายตา และไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้เมื่อออกเป็น น.ส.3 อาจขยายออกไปตามที่ผู้ครอบครองชี้ชัด แต่ที่น่าประหลาดใจคือในที่ดิน น.ส.3 จำนวน 81 ไร่ดังกล่าว กลับมีที่ดินของโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ จำนวน 6 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุอยู่ในนั้นด้วย

ทั้งๆที่โรงเรียนตั้งขึ้นมาก่อนคือเมื่อปี 2501 ทำให้เกิดความสงสัยว่า ในกระบวนการจัดทำ น.ส.3 ตัวแทนกรมที่ดินได้ลงพื้นที่ไปสำรวจหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ให้ชัดเจน ที่กลายเป็นปัญหายิ่งขึ้น คือเมื่อผู้อ้างเอกสารสิทธิ 81 ไร่ ได้ขยายพื้นที่ครอบครอง ออกไปเป็น 150 ไร่ (ตามคำให้การในชั้นศาล) ทำให้เกิดการฟ้องขับไล่ชาวเล ที่อาศัยอยู่ในที่ดินดั้งเดิมรอบพื้นที่ 81 ไร่ รวมถึงการถมทับลำธารสาธารณะประโยชน์ และถนนดั้งเดิมของชาวบ้าน กระทั่งเมื่อทายาทที่ดินแปลงที่ 11 ได้ฟ้องขับไล่ชาวอูรักลาโว้ย 5 ราย โดยบริเวณที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยอยู่ คือนอกพื้นที่ น.ส.3 ที่ระบุไว้ 81 แต่อยู่ในขอบเขต 150 ไร่ที่ถูกอ้างการครอบครอง หลังการต่อสู้ยาวนานทั้ง 3 สาล ในที่สุดเมื่อปี 2562 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า โจทย์ไม่มีสิทธิ ขับไล่ชาวเลกลุ่มนี้เพราะชาวเลอยู่มาก่อน

และเมื่อค่ำวันที่ 8 มกราคม 2566 ชาวเลทั้งเกาะหลีเป๊ะมติเอกฉันทน์ ในระหว่างการทำประชาคมหมู่บ้าน ต่างยืนยันให้รัฐบาลตรวจสอบเอกสารสิทธิใหม่ทั้งเกาะ ซึ่งคนที่ได้มาอย่างถูกต้องนั้นย่อมไม่มีปัญหา แต่ผืนดินใดได้ น.ส.3 ไม่ถูกต้อง ก็น่าจะคืนพื้นที่นั้น นอกจาก น.ส.3 ซึ่ง กสม.ระบุว่าไม่ถูกต้องจำนวนมากแล้ว ยังปัญหาเรื่องการขยายพื้นที่ครอบครอง ที่บวมออกไปจาก น.ส.3 อีกจำนวนมาก ยกตัวอย่าง สค.1 แปลงที่ 11 ที่มีปัญหากรณีปิดกั้นเส้นทางไปโรงเรียนของเด็กๆ และทางเดินลงทะเลของชุมชน จนชุมชนออกมาประท้วง กลายเป็นกระแสข่าวติดต่อกันหลายวัน ขณะที่ภาครัฐไม่เคยให้ความสำคัญ ที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะกลุ่มผู้มีอิทธิพลได้สร้างบารมี ไปถึงนักการเมืองระดับชาติ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำให้เสียงเล็กเสียงน้อยของชาวอูรักลาโว้ย จมหายไปในทะเลมาโดยตลอด ปัจจุบันที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ มีราคาสูงลิ่วและมีการซื้อขายกันไปแล้วหลายทอด โดยชาวเลกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่ถูกผลักดันให้ขึ้นไปอยู่บนเกาะ ห่างจากชายหาด เพื่อใช้พื้นที่ติดทะเลประกอบธุรกิจนักท่องเที่ยว ทำให้ตอนนี้ตลอดแนวชายหาด จนแทบไม่มีทางลงทะเล

Related Posts

Send this to a friend