AROUND THAILAND

กรมชลฯ เตรียมรับมือพายุ “ไลออนร็อก”

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน คาดว่าเคลื่อนลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2564 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับต่อไป ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันเวลาดังกล่าวจะมีฝนเพิ่มขึ้น ทางตอนบนของภาค ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลังแรง ทำให้ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนัก

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2564 ได้ประเมินสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 11 – 16 ตุลาคม 2564 นี้ จะมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ดังนี้

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และอุบลราชธานี

– ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และสระแก้ว

– ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี

– ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

นอกจากนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

– ภาคเหนือ (จังหวัดพิษณุโลก ลำปาง สุโขทัย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์)

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี มุกดาหาร ยโสธร เลย บึงกาฬ นครพนม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และสกลนคร)

– ภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง นครนายก ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว จันทบุรี และชลบุรี)

– ภาคกลาง (จังหวัดลพบุรี และสระบุรี)

– ภาตตะวันตก (จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์)

– ภาคใต้ (จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี)

ส่วนระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ ดังนี้

– แม่น้ำน่าน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยม อำเภอสามง่าม และอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

– แม่น้ำชี อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด และอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

– แม่น้ำมูล อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

– แม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

– แม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี

– แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

– แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

– แม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้น

อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังซ้ำซาก พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และให้พิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และรองรับน้ำหลาก รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด

หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโท- ร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

Related Posts

Send this to a friend