กรมชลฯ เดินหน้างานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่โคราช แก้ภัยแล้ง
กรมชลฯ เดินหน้างานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หวังแก้ปัญหาภัยแล้ง
วันนี้ (10 ก.พ. 65) นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทับรั้งและอ่างเก็บน้ำบ้านซับกระจาย พร้อมระบบส่งน้ำ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำทับรั้งพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลหนองแวง อำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ใน 13 อ่างเก็บน้ำที่จะก่อสร้างในลุ่มน้ำลำเชียงไกร สามารถเก็บกักน้ำได้ปริมาณ 4.10 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ระยะเวลาในการดำเนินการ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2562 – 2565 มีผลความคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 82 ปัจจุบันแม้จะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด แต่งานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 7 แห่ง ตามลำน้ำคลองโปร่งยายชีท้ายอ่างเก็บน้ำทับรั้งแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว สามารถเก็บกักน้ำให้ชาวโคราชใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้แล้ว
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร และเลี้ยงสัตว์ ในเขตตำบลหนองแวง ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ชลประทานประมาณ 4,000 ไร่ โดยได้เร่งรัดให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2565
ในส่วนของการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านซับกระจายพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลกฤษณา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ในอ่างเก็บน้ำที่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำลำเชียงไกร สามารถเก็บกักน้ำได้ปริมาณ 4.26 ล้าน ลบ.ม. มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2567 ปัจจุบันมีผลดำเนินการคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 38 ซึ่งได้สั่งการให้เร่งรัดการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้แล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำได้ในปี 2566 และการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำให้แล้วเสร็จในปี 2567 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับประชาชนในพื้นที่ ตำบลกฤษณา และตำบลวังโรงใหญ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค พื้นที่ชลประทาน 3,754 ไร่
ทั้งนี้ รองฯชูชาติ ได้เน้นย้ำให้ผู้รับผิดชอบทั้ง 2 โครงการ เร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ โดยคำนึงถึงมาตรฐานงานก่อสร้าง และเป็นไปตามหลักวิศวกรรม มีความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทาน เพื่อให้ชาวโคราชได้รับประโยชน์สูงสุดจาก 2 โครงการดังกล่าว