AROUND THAILAND

กรมชลแจ้งเตือน 4 จังหวัด เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสัก – เจ้าพระยา ใกล้ชิด

กรมชลประทาน เตรียมรับมือ-ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดพื้นที่จังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อุทัยธานี ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก-เจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น หลังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายน้ำเป็น 800 ลบ.ม./วินาที

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 3 – 9 ตุลาคม 2565 อิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กอนช. ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ในช่วงวันที่ 3 – 9 ตุลาคม 2565 รวมประมาณ 400 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นั้น

กรมชลประทาน จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 800 ลบ.ม./วินาที ดังนี้

บริเวณริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร

บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร

บริเวณจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อย ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น

ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งได้หน่วงน้ำโดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำเต็มความจุแล้ว อีกทั้งมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจากจังหวัดชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700 – 2,800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณ อ.เมืองชัยนาท และมโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่ง ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที รวมถึงปรับแผนบริหารจัดการน้ำ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถรับมือน้ำหลากและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือโทร.สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

Related Posts

Send this to a friend