AROUND THAILAND

ชาวบ้านบางกลอยร้องถูกเก็บค่าใช้จ่ายโหด เดินทางตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติ

วันนี้ (4 ม.ค. 65) นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจานจ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า มีชาวบ้านบางกลอยที่เตรียมเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อตรวจดีเอ็นเอตามขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติปรึกษากับตนว่า มีความเดือดร้อนด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากต้องเสียค่ารถตู้รับส่งจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไปโรงพยาบาลรามาธิบดีรายละ 1,000 บาท โดยบางรายจะต้องเหมารถจากหมู่บ้านลงมาที่ทำการอุทยานฯ อีกขาละ 2,500 บาท (ไป-กลับ 5,000 บาท) โดยจะมีชาวบ้านเดินทางไปตรวจดีเอ็นเอในวันที่ 3 มกราคม จำนวน 3 คน และ วันที่ 10 มกราคม จำนวน 13 คนตนจึงนำปัญหาปรึกษากับภาคี#SAVEบางกลอย เพราะรู้สึกว่าชาวบ้านถูกเก็บค่ารถแพงเกินไปทั้งที่มีความยากจนมากและกำลังประสบปัญหาสิทธิที่ดิน

“ที่ผ่านมาผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะต้องเสียค่ารถแพงถึงคนละ 1,000 บาท ถ้าไป 13 คน รถตู้จะได้เงินถึง 13,000 บาท เคยมีครั้งหนึ่งชาวบ้านเดินทาง 4 คน แต่รถตู้เรียกค่ารถ 9,000 บาท ทั้งที่ชาวบ้านได้จ้างรถคันนี้อยู่เป็นประจำในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะได้เงินค่ารถจากชาวบ้านไปจำนวนมาก ถือเป็นการเอาเปรียบชาวบ้านเกินไป” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า เบี้องต้นจะมีการหารถตู้คันใหม่เพื่อเหมาให้รับ-ส่งชาวบ้านเดินทางตรวจดีเอ็นเอที่กรุงเทพฯ โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 4,000 บาท ซึ่งภาคี#SAVEบางกลอยจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ชาวบ้านไปก่อน โดยอยากเสนอให้ทางกรมการปกครองและทางอำเภอแก่งกระจาน อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านสามารถไปตรวจดีเอ็นเอในโรงพยาบาลแก่งกระจานหรือที่ จ.เพชรบุรี หรืออาจส่งทีมเข้ามาเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอที่หมู่บ้าน เพราะชาวบ้านยากจนจริง ๆ และลำบากมากหากต้องเดินทางออกนอกพื้นที่แต่ละครั้ง

นางสาวอัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงานภาคี #SAVEบางกลอย กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีชาวบ้านบางกลอยอีกกว่า 100 คน ที่รอการตรวจดีเอ็นเอเพื่อรับสัญชาติไทย ซึ่งกระบวนการพิสูจน์สิทธิต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะเสร็จสิ้น ปัญหาที่เกิดคือชาวบ้านต้องเดินทางจากชุมชนในเขตอุทบานแห่งชาติแก่งกระจานตัวชาวบ้านมีปัญหาด้านการสื่อสารภาษาไทย และไม่รู้หนทางการติดต่อหรือเดินทางมาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปตรวจดีเอ็นเอที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง จึงอาจเป็นช่องให้มีผู้เสนอตัวเป็นผู้ขับรถรับส่งชาวบ้านโดยคิดค่าโดยสารหัวละ 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งชาวบ้านต้องยอมจ่ายทั้งที่ยังยากจนและขาดแคลนเพราะไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร และเข้าใจว่านี่คือการช่วยเหลือ

“กระบวนการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์สัญชาติ ต้องมีหนังสืออนุญาตจากอำเภอเพื่อส่งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ชาวบ้านไม่สามารถไปตรวจดีเอ็นเอโดยไม่มีเอกสารอนุญาตจากนายอำเภอได้ เพราะจะผิดขั้นตอน โดยปกติค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นระหว่างคู่พ่อแม่หรือลูกประมาณ 4,000 บาท คู่พี่น้องประมาณ 10,000 บาท แต่ปัจจุบันมีงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยที่ให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองสามารถตรวจดีเอ็นเอฟรี แต่ในแต่ละปีแต่ละชุมชนจะได้โควต้าเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น จึงยังไม่เพียงพอต่อสถานการ์ณปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ที่ยังมีชาวบ้านที่รอพิสูจน์สัญชาติอีกกว่า 100 คน” นางสาวอัญชลี

ผู้ประสานงานภาคี #SAVEบางกลอย กล่าวต่อว่า แม้การตรวจดีเอ็นเอจะมีงบสนับสนุน แต่โรงพยาบาลที่มีห้องแล็ปที่มีศักยภาพยังมีไม่มาก โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีก็ไม่มีความพร้อม โรงพยาบาลที่สามารถตรวจรับรองผลได้จึงเป็นโรงพยาบาลที่เป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น ชาวบ้านจึงมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตรวจดีเอ็นเอ และในการไปติดตามกระบวนการยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคของชาวบ้านและอาจทำให้ชาวบ้านหลายรายต้องหลุดจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้

Related Posts

Send this to a friend