ENVIRONMENT

ค้านลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบง ชาวบ้านริมโขงทำหนังสือท้วงหวั่นผลกระทบอื้อ

ค้านลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบง ชาวบ้านริมโขงทำหนังสือท้วงหวั่นผลกระทบอื้อ-แม่น้ำโขงช่วงเชียงรายถูกเขื่อนขนาบกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ “ครูตี๋”จี้รัฐทบทวนระบุให้ฟังเสียงประชาชน

วันนี้ (12 พ.ค. 65) ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงในนามกลุ่มรักษ์เชียงของได้ส่งหนังสือถึง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อคัดค้านการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง  
 
ทั้งนี้เนื้อหาในจดหมายได้ระบุถึงกรณีที่เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) ได้เผยแพร่ข้อมูล กพช.รับทราบแผน PDP เพิ่มการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 10 ปีแรกกว่า 9,996 เมกะวัตต์ โดยเนื้อหาระบุว่า กพช. ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 โดยมีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นประธานในการประชุม ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากแบง และได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยโครงการปากแบง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท  Run of River มีอายุสัญญา 29 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 897 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576  
 
จดหมายระบุว่าเมื่อปี 2559ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้จัดการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นล่วงหน้า หรือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 เนื่องด้วยโครงการเขื่อนปากแบง จะก่อสร้างอยู่ห่างจากชายแดนไทยลาว ที่แก่งผาได บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราว 96 กิโลเมตรเท่านั้น ที่ผ่านมาพวกเราได้แสดงจุดยืนของชาวบ้านในการคัดค้านเขื่อนปากแบงมาตลอด ตั้งแต่การส่งหนังสือร้องเรียน การเปิดการเจรจากับบริษัทจีน คือบริษัทต้าถัง คอร์ปเรชั่น ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ และมีตัวแทนของรัฐบาลลาวมาด้วย 2 ครั้ง เพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมและไม่ครอบคลุมของรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ทางบริษัทจัดทำและผ่านกระบวนการ PNPCA แล้ว และการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเกี่ยวกับการจัดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานรัฐ แต่ศาลยกฟ้องไปแล้ว  

สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือ กระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนร้ายแรง เช่น ผลกระทบภาวะน้ำท่วมเท้อ (Back water effect) ต่อพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน ที่ดินทำกินและพื้นที่การเกษตรของชุมชนในเขต ตัวเมืองเชียงของ เชียงแสนและเวียงแก่นจะอยู่ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจิงหง และเขื่อนปากแบงอีก
 
ในจดหมายระบุว่า เมื่อปี 2559 พ่อหลวงทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น ในขณะนั้นได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีเขื่อนปากแบง ต่อมากสม.ได้ออกรายงานการตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า  กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้ว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม จ.เชียงราย จากโครงการเขื่อนปากแบง ตั้งแต่พื้นที่บริเวณสบกก อ.เชียงแสน ถึงแก่งผาได อ.เวียงแก่น รวมระยะทาง 119 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 27 หมู่บ้าน ในเขตประเทศไทย

โดยจากการสำรวจพบว่า มี 2 หมู่บ้านที่น่ากังวลคือ บ้านห้วยลึกและบ้านแจมป๋อง มีระดับใกล้เคียงกับระดับกักเก็บหน้าเขื่อนที่สปป.ลาวแจ้งไว้คือ ระดับ 340 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกรมชลประทาน ที่เห็นว่า โครงการเขื่อนปากแบงอาจจะส่งผลให้ระดับน้ำงาวและแม่น้ำอิง สูงขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านอุทกภัยในพื้นที่ อ.เชียงของ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง และลุ่มน้ำงาว ในเขต อ.เวียงแก่น เพิ่มสูงขึ้นได้
 
จดหมายยังระบุด้วยว่า กสม.ได้มีข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องให้ทำการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 57(2) และข้อกังวลที่สำคัญคือ  แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายตั้งอยู่ระหว่างเขื่อนจิงหง ในสปป.จีน และเขื่อนปากแบง ที่จะก่อสร้างใน สปป.ลาว ซึ่งจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำระหว่างเขื่อนทั้งสองแห่ง หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่สอดคล้องกันและอาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นเขตชายแดนระหว่างไทย-ลาว ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแบบตอบรับ หรือ Reply Form ของประเทศไทยที่ส่งให้แก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต่อกรณีเขื่อนปากแบง ตามกระบวนการ PNPCA แล้วที่ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบน้ำเอ่อท่วมท้ายน้ำหรือ Back water affect ต่อเขตชายแดนไทยและผลกระทบด้านการประเมง ซึ่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนในเขตประเทศไทยถือเป็นความรับผิดชอบหลังที่หน่วยงานของรัฐทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง และบริหารจัดการผลกระทบจากโครงการเขื่อนปากแบงดังกล่าวตามหน้าที่ของรัฐที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 57(2)
 
ในจดหมายระบุอีกว่าที่ผ่านมา กพช. ได้ชี้แจงต่อเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ตามเลขที่หนังสือ พน.(กพช) 06055/557 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ระบุประเด็นสำคัญว่า ในกระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน จะมีการสอบถามความเห็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทส. สนทช.เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า
 
“เพื่อเป็นการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับภาคประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานจึงได้สั่งการให้ กฟผ.ระบุเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ว่าให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า ตามข้อกังวลของ ทส.และสนทช. ซึ่งประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขงต่างได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอย่างรุนแรงและกว้างขวาง เป็นที่ประจักษ์ตลอด 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง และยังไม่ปรากฎว่ามีแนวทางในการแก้ไขบรรเทาผลกระทบแต่อย่างใด การที่ระบุว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำจากต่างประเทศ จะเป็นการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและยอมรับไม่ได้สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงซึ่งจะต้องกลายเป็นผู้แบกรับภาระผลกระทบข้ามพรมแดนไปตลอดระยะเวลาของโครงการ” เนื้อหาในจดหมายระบุไว้ในตอนท้าย
 
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าโครงการเขื่อนปากแบง ยังกลับมาฟื้นอีกครั้งทั้งๆที่ผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี โดยเฉพาะ 11 เขื่อนตอนบนในจีน สิ่งสำคัญในเวลานี้คือจะทำอย่างไรที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศและธรรมชาติแม่น้ำโขงให้กลับคืนมาหล่อเลี้ยงประชาชนนับ 60 ล้านคนตลอดลุ่มน้ำได้ดังเดิม การที่เสนอให้ก่อสร้างเขื่อนปากแบงและจะรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม เป็นการเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งที่ผ่านมาชาวบ้านริมแม่น้ำโขงส่วนใหญ่ต่างก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนแผนดังกล่าวทันที  
 
ทั้งนี้โครงการเขื่อนปากแบง มีเป้าหมายกำลังการผลิต 920 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนแห่งนี้จะกั้นแม่น้ำโขงบริเวณเมืองปากแบง แขวงอุดมไซย สปป.ลาว ซึ่งมีผู้พัฒนาโครงการร่วม คือ บริษัทกัลฟ์ เอเนอยี่ เดวอร์ลอฟเม้นท์ จำกัด ของไทยและบริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสต์เม้นท์  จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน เป็นผู้พัฒนาโครงการร่วม  โดยไฟฟ้า 90 % จะส่งขายให้กับ กฟผ.

Related Posts

Send this to a friend