WORLD

ธนาคารโลกเตือน ‘ราคาอาหาร-พลังงาน’ พุ่งสูง เซ่นพิษความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิด “ผลกระทบใหญ่” ต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า การผลิต และการบริโภคทั่วโลก ขณะราคาพลังงานในช่วงสองปีที่ผ่านมาพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1973 โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และปุ๋ยที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นปัจจัยการผลิต เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 และมีการคาดการณ์ว่าราคาพลังงานจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2022 ก่อนจะลดระดับลงในปี 2023 และ 2024

ราคาน้ำมันดิบเบรนต์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ (ราว 3,400 บาท) ต่อบาร์เรลในปี 2022 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2013 และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี 2021 ต่อจากนั้นคาดว่าจะลดลงเหลือ 92 ดอลลาร์ (ราว 3,100 บาท) ในปี 2023 ทว่ายังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะ 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ (ราว 2,000 บาท) ต่อบาร์เรล

ส่วนราคาสินค้าที่ไม่ใช่พลังงาน ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรและโลหะ จะเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 20 ในปี 2022 และจะลดลงในหลายปีถัดไป โดยราคาข้าวสาลีอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ด้านราคาโลหะอาจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ก่อนจะลดลงในปี 2023 แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูง

รายงานเสริมว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะ 5 ปีล่าสุด โดยราคาอาจสูงขึ้นและผันผวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน หากความขัดแย้งยืดเยื้อออกไปหรือมีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม

ที่มา/ ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend