WORLD

เปิดปฏิญญาผู้นำเอเปค 2022 รวมฉันทามติ ผู้นำ มุ่งมั่นปฏิรูปโครงสร้างหลังโควิด-19

เปิดปฏิญญาผู้นำเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รวมฉันทามติผู้นำ มุ่งมั่นปฏิรูปโครงสร้างหลังโควิด-19 ส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เสรี คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมผ่านวาระเศรษฐกิจ BCG และตั้งตารอการประชุมปีหน้าที่สหรัฐอเมริกา

วันนี้ (19 พ.ย. 65) ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 มีมติรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 แล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมเอเปค 2022 ในปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพThe Reporters เปิดเนื้อหารายละเอียดปฏิญญาดังกล่าวโดยสังเขป ดังนี้

ช่วงต้นของปฏิญญา มีการระบุถึง สงครามในยูเครนที่ยังซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจโลก โดยผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจมีการกล่าวถึงจุดยืนที่แสดงออกต่อกรณีดังกล่าวในหลายวาระโอกาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ประณามสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากของมนุษยชาติอย่างมากประมาณ ทั้งยังสั่นคลอนเศรษฐกิจโลกให้เปราะบางยิ่งขึ้นไป ทั้งนี้ แม้เอเปคจะไม่ใช่เวทีเพื่อแสวงหาข้อยุติทางความมั่นคง แต่พวกเราตระหนักว่าประเด็นทางความมั่นคงก็มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกได้

เหล่าผู้นำเอเปคยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 และสนับสนุนให้เอเปคเป็นเวทีหลักด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อก่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อความท้าทายต่าง ๆ อย่างวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ 2030 ผ่านการปฏิบัติตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)

การค้าและการลงทุนสำคัญต่อการเจริญก้าวหน้าของประชากรเอเปค เหล่าผู้นำเอเปคจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศและบทบาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เติบโต และบรรเทาความยากจนได้ ทั้งยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าการลงทุนที่เสรีโปร่งใส ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคีภายใต้กฎการค้าระหว่างประเทศ หรือแม้แต่การปฏิรูปโครงสร้างที่มุ่งเพื่อการเติบโตหลังโควิด-19 และให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

เหล่าผู้นำยังมีการทบทวนฟื้นแผนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ภายหลังโควิด-19 โดยจะมีการรักษาพลวัตรต่อไปให้การทำงานมีคุณภาพและครอบคลุม ผ่านการมอบหมายให้มีการรายงานความคืบหน้าประจำปีในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ด้วย

สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เหล่าผู้นำเอเปคยังแสดงออกถึงความพยายามมากขึ้นในการจัดการกับปัญหาท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัย อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศเลวร้าย ภัยพิบัติธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืน 

ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ยังรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ที่จะเป็นการต่อยอดกรอบการทำงานตามเป้าหมายความยั่งยืนของเอเปค และผู้นำจะน้อมรับไปดำเนินการให้ชัดเจน ตอบสนอง และครอบคลุม

เหล่าผู้นำเอเปคยังมองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเล็งเห็นถึงศักยภาพทั้งหมดในสังคมของเรา ดังนั้น เหล่าผู้นำจึงจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เสริมพลังให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดไมโคร เล็ก และกลาง (MSMEs) และสตรี ให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ด้วย ตลอดจนระบุถึงภัยจากการทุจริตคอรัปชั่นที่จำเป็นต่อการปราบปรามข้ามพรมแดน

“พวกเราขอขอบคุณประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 และเราตั้งตารอการประชุมเอเปค 2023 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนยินดีที่เปรูและสาธารณรัฐเกาหลีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับด้วย”

เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย

Related Posts

Send this to a friend