เปิดเหตุผล ‘ไทย’ งดออกเสียงในมติยูเอ็น
ชี้การประณามรัสเซีย ปิดทางเจรจา หวั่นเกิดสงครามนิวเคลียร์ ขอทุกฝ่ายลดความขัดแย้ง-รุนแรง ใช้กลไกสันติวิธีทางทูต
วันนี้ (13 ต.ค. 65) กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ภาพผ่านเพจเฟซบุ๊ก ปรากฏเป็นเอกสารภาษาอังกฤษจำนวน 2 หน้า ระบุเป็นคำอธิบายภายหลังการลงคะแนนเสียงของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก โดย ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อมติประณามรัสเซียกรณีพยายามผนวกรวมสี่ดินแดนในยูเครน ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมัยวิสามัญฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 ตามเวลาท้องถิ่น
แปลเป็นภาษาไทย อย่างไม่เป็นทางการได้ ดังนี้
“เรียน ท่านประธานฯ
- ในฐานะชาติอธิปไตยขนาดเล็ก ประเทศไทยยึดมั่นต่อกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวป้องกันแรกและสุดท้ายของเรา เรายึดมั่นในหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอย่างชัดเจนตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ การต่อต้านการคุกคามและใช้กำลังรุกรานบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใด ๆ และการใช้กำลังเพื่อได้มาซึ่งดินแดนของรัฐอื่นโดยปราศจากการยั่วยุ ล้วนเป็นนโยบายที่ประเทศไทยยึดมั่นมาอย่างต่อเนื่องและช้านาน
- อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยตัดสินใจงดออกเสียง ในมติดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยอารมณ์และมีความเปราะบางยิ่งยวด จึงยิ่งลดทอนโอกาสสำหรับการทูตในภาวะวิกฤตซึ่งเป็นทางออกสู่การเจรจาที่สันติและเป็นรูปธรรมในความขัดแย้งนี้ จนอาจนำพาโลกตกสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายทางเศรษฐกิจระดับโลก
- แท้จริงแล้วเรายังกังวลต่อการแปรเปลี่ยนหลักการระหว่างประเทศให้เป็นประเด็นการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผลในแง่ลบต่อกระบวนการและหนทางสู่การยุติสงครามเสียเอง การประณามกระตุ้นให้เกิดการไม่ประนีประนอมต่อกัน จึงลดโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
- ประเทศไทยครวญคร่ำต่อการทำลายล้างยูเครนทั้งทางกายภาพ สังคม และมนุษยธรรม ตลอดจนความลำบากแสนสาหัสที่ยูเครนประสบ เราจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในโศกนาฏกรรมนี้ในยูเครน ลดความขัดแย้ง ความรุนแรง และแสวงหาสันติวิธีเพื่อยุติความแตกต่าง โดยการเปิดเผยความเป็นจริงในทางปฏิบัติ และข้อกังวลของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิต เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 3 แต่สิทธิดังกล่าวถูกพรากไปจากชาวยูเครนและอีกหลายล้านคนทั่วโลก นี่จึงเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่อันสูงสุดขององค์การนี้ ที่จะฟื้นฟูสันติและความเป็นปกติสุขของชีวิตชาวยูเครน มิใช่ด้วยวิถีแห่งความรุนแรง แต่ด้วยกลไกทางการทูตเท่านั้น ที่นำมาซึ่งสันติภาพที่เป็นจริงและยืนยาวได้
ขอขอบคุณ”