TRAVEL

5 สถานที่ห้ามพลาด เมื่อมาเยือนพุกาม มรดกโลกแห่งที่ 2 ของเมียนมา

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่โบราณสถานเมืองพุกาม หรือ Bagan ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก.. แต่ที่หลายๆ คนคงรู้สึกประหลาดใจมากกว่า คือ อ้าว! พุกามเพิ่งจะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกหรือ..

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อครั้งแผ่นดินไหวใหญ่ใกล้เมืองพุกามเมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งส่งผลให้เจดีย์ในเมืองพุกามได้รับความเสียหายรุนแรงเกือบ 400 แห่ง ครั้งนั้นสื่อมวลชนไทยหลายสำนักยังรายงานข่าวผิดพลาดว่า พุกามเป็นมรดกโลก ด้วยเพราะคนไทยรู้จักถึงชื่อเสียง ความสำคัญ และความยิ่งใหญ่ของ “อาณาจักรทุ่งเจดีย์สี่พันองค์” เป็นอย่างดี..

ทางการพม่าใช้เวลาหลายปี ในการปรับปรุงพื้นที่เมืองพุกาม เพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและโบราณสถานให้ยั่งยืน และสอดคล้องกับเกณฑ์เงื่อนไขของ UNESCO ทั้งการจัดโซนเมือง และตั้งกฎระเบียบในการท่องเที่ยว จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของเมียนมาในปี พ.ศ.2562 นี้ (แห่งแรกคือ กลุ่มแหล่งอารยธรรมพยู อาณาจักรศรีเกษตร เมืองแปร เมืองบีกถะโน และเมืองฮาลิน เมื่อปี พ.ศ.2557)

การเดินทางไปเยือนพุกามแต่ละครั้ง จึงได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเสมอ.. ปัจจุบันการเดินทางสู่พุกาม มีความสะดวกสบายมาก ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ด้วยรถโดยสารจากเมืองมัณฑะเลย์ ก็ถีงเมืองพุกาม มีโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ทันสมัยให้บริการครบครัน

See Bagan and live. See Angkor Wat and die. ก่อนตายควรได้ไปเยือนพุกามและนครวัดสักครั้ง อุปมาอุปไมยนี้คงไม่เกินจริงจนเกินไป เมื่อมีการได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกเป็นสิ่งยืนยัน และมีนักเดินทางจากทั่วโลกที่ใฝ่ฝันจะได้มาเยือยพุกามเพิ่มมากขึ้นทุกปี แล้วเราคนไทยอยู่ใกล้อาณาจักรพุกามมากว่าใครๆ จะมัวรออะไรอยู่..

วันนี้ The Reporters ขอคัดสรร 5 สถานที่ในพุกามที่ควรไปชม มาเป็นตัวอย่าง เผื่อจะทำให้ทุกคนต้องรีบหาตั๋วเรือบิน เก็บกระเป๋า เลือกพุกามเป็นเป้าหมายสำหรับวันหยุดพักผ่อนในครั้งต่อไป..

มหาเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon Pagoda)

1. มหาเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon Pagoda) (อายุประมาณ 900 ปี)

ชเวสิกอง เริ่มสร้างในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ผู้สถาปนาอาณาจักรและราชวงศ์พุกาม.. เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์องค์แรกของพุกาม สร้างโดยช่างฝีมือชาวมอญซึ่งแพ้สงครามและถูกเทครัวมาเป็นเชลยอยู่ที่อาณาจักรพุกาม.. นับว่าเป็นเจดีย์ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นต้นแบบของเจดีย์พม่า..

ปัจจุบัน ชเวสิกอง ไม่ได้ตั้งอยูในเขตอาณาจักรโบราณพุกาม แต่อยู่ในเขตเมืองญองอู (Nyaung U) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย.. มีผู้มากราบไหว้สักการะเนืองแน่นโดยตลอด เนื่องจากชาวเมียนมา ยกให้เป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุด อันประกอบด้วย มหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง, พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์, มหาเจดีย์ชเวมอดอว์ หรือพระธาตุมุเตา เมืองหงสาวดี(พะโค), พระธาตุอินทร์แขวน หรือไจท์ทิโย รัฐมอญ และมหาเจดีย์ชเวสิกอง แห่งพุกาม

วิหารวัดอนันดา (อานันทวิหาร) (Ananda Pagoda)

2. วิหารวัดอนันดา (อานันทวิหาร) (Ananda Pagoda)

วัดอนันดา ถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ของการเที่ยวอาณาจักรพุกาม เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีแผนผังวัดสวยงาม  โดดเด่น ตั้งอยู่กลางอาณษจักร ได้รับการทำนุบำรุงมาโดยตลอด ภายในค่อนข้างสมบูรณ์ มีชีวิตชีวา เนื่องจากมีชาวพม่ามาสวดมนต์ ไหว้พระ ประกอบศาสนากิจตลอดวัน.. ได้รับความเสียหายมากจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2559

วิหารวัดสัพพิญญู (Thatbyinnyu)

3. วิหารวัดสัพพิญญู (Thatbyinnyu)

เป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในเมืองพุกาม มองเห็นได้จากทุกที่ ตั้งอยู่ใกล้วัดอนันดา เมื่อหลายปีก่อนเคยเปิดให้ขึ้นไปยังลานทักษิณชั้นบนสุดได้ ปัจจุบันให้เข้าชมและสักการะพระพุทธรูปได้เฉพาะชั้นล่าง

วัดธรรมะยังจีย์ (Dhammayangyi)

4. วัดธรรมะยังจีย์ (Dhammayangyi)

เป็นวิหารทรงคล้ายปิระมิด มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองพุกาม พระเจ้านราสุเป็นผู้ดำริสร้าง เพื่อไถ่บาปที่ฆ่าพระบิดาของพระองค์เอง และมีพระประสงค์ สร้างให้ยิ่งใหญ่ สวยงามกว่าวิหารวัดอนันดา..

วิหารธรรมยังจีย์ มีชื่อเสียงในเรื่องการเรียงอิฐก่อสร้างที่แนบแน่นสนิท เล่ากันว่า พระเจ้านราสุเสด็จมาตรวจงาน ด้วยการใช้เข็มสอดเข้าไปในช่องระหว่างอิฐ หากสอดเข็มเข้าไปได้ ช่างที่ก่ออิฐตรงนั้น จะถูกนำตัวไปลงโทษด้วยการตัดแขน..  เรื่องเล่านี้ส่งเสริมให้การเดินชมภายในวิหารที่ค่อนข้างมืดทึบมีบรรยากาศที่น่ากลัวยิ่งขึ้น

วัดจุฬามณี (Sulamuni)

5. วัดจุฬามณี (Sulamuni)

เมื่อครั้งแผ่นดินไหวใหญ่ปี พ.ศ.2559  ภาพของยอดเจดีย์ที่พังทลายลงมาต่อหน้าต่อตา สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ชมข่าวทั่วโลก ก็คือยอดเจดีย์วัดจุฬามณี หรือวัดสุลามุนี นี่เอง .. ในภาพนี้คือการบูรณะหลังแผ่นดินไหว..

วัดจุฬามณี มีความโดดเด่นที่จิตกรรมฝาผนัง ตลอดกำแพงทางเดินภายในวิหารทุกทิศ ซึ่งมีความสวยงามมาก หลายจุดยังค่อนข้างสมบูรณ์..

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend