POLITICS

นายกฯ แถลงข่าวพร้อมแกนนำพรรคร่วม ยัน เกาะกูดเป็นของไทย

ลั่น ไม่ยอมเสียแผ่นดินแม้ตารางนิ้วเดียว เดินหน้า MOU 44 ตั้ง คกก. เจรจาร่วมกับกัมพูชา แบ่งปิโตรเลียมใต้ทะเล ขออย่าเอาเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน

วันนี้ (4 พ.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาลในวันนี้ ว่า วันนี้มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล และหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคมาคุยกัน เรื่อง MOU 44 ซึ่งได้คุยกันในรายละเอียด ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้ว กัมพูชาก็รับรู้เช่นนั้นเช่นเดียวกันตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส

“รัฐบาลนี้ไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทย แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ไปให้ใครก็ตาม” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เรื่องเกาะกูด เราไม่เคยมีปัญหากับกัมพูชาและไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย เพราะฉะนั้นอาจเกิดความเข้าใจผิดกันของในประเทศไทยเอง ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ส่วนเรื่อง MOU 44 ยังมีอยู่ ไม่สามารถยกเลิกได้ ถ้าจะยกเลิก ต้องอาศัยการตกลงระหว่างไทยกัมพูชา มายกเลิกเองไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นการตกลงกันระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า MOU 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด เส้นที่ตีมาไม่เกี่ยวเลย เพราะตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ เราไม่ได้คุยเรื่อวพื้นที่ดิน แต่คุยเรื่องทะเล ซึ่งขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใน MOU ตกลงกันว่าจะต้องมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องมีคณะทำงาน คณะเจรจามาคุยกัน โดยทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล คณะกรรมการนั้นก็หมดอายุด้วยจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการใหม่ ซึ่งตั้งแต่สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขี้น โดยขณะนี้เรากำลังตั้งคณะกรรมการอยู่และจะได้พูดคุยกันว่าจะเอาอย่างไร

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสที่มองว่าการไม่ยกเลิก MOU 44 หมายความว่าประเทศไทยยอมรับเส้นกัมพูชา ว่า นั่นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้รับเส้นจากกัมพูชา โดย MOU 44 คือการคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อนและปี 2516 ประเทศไทยก็ขีดด้วย โดยมีข้อตกลงไม่เหมือนกัน จึงมีการทำข้อตกลงขึ้นมา และเปิดการเจรจา ซึ่งต้องเจรจากันว่าจะเอาอย่างไร และยืนยันอีกครั้งว่า เกาะกูดไม่อยู่การเจรจานี้ ขอให้คนไทยทุกคนสบายใจว่าเราไม่เสียเกาะกูดไป แล้วกัมพูชาก็ไม่สนใจเกาะกูดเราด้วยเพราะไม่อยู่ในการเจรจานี้เลย ดังนั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการมีมติ ครม. สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ายกเลิก MOU ฉบับดังกล่าวแล้ว ว่า ไม่มี ข้อเท็จจริงคือ MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่เกิดการตกลงระหว่างประเทศ และต้องเข้าสภาก่อน แต่เมื่อปี 2552 ก็ไม่มีเข้าสภา และปี 2557 ก็ไม่มีการยกเลิก

เมื่อถามว่าจะอธิบายประชาชนอย่างไร เพราะขณะนี้มีกระแสต้องการให้ยกเลิก MOU 44 นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องถามก่อนว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้แต่หากคิดไม่เหมือนกันต้องมีข้อคิดเห็นหรือ MOU มาคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น MOU ฉบับดังกล่าว เป็นการเปิดพื้นที่ให้พูดคุยกัน หากมายกเลิกฝ่ายเดียว เราโดนฟ้องร้องจากทางกัมพูชาอย่างแน่นอน ซึ่งมันไม่มีประโยชน์

นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ไม่จริงเลยที่ว่าเราไม่ฟังเสียงคัดค้าน ซึ่งวันนี้ที่ออกมาพูด คือเพื่อออกมาอธิบายประชาชนให้เข้าใจว่าไม่เกี่ยวเกาะกูด MOU เป็นเรื่องระหว่างประเทศ หากจะยกเลิกต้องคุยกันทั้งสองประเทศ และขณะนี้เรายังไม่ได้เสียเปรียบในข้อตกลงดังกล่าว

“อย่าเอาเรื่องการเมือง มาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ดังนั้น ความเข้าใจต่าง ๆ ต้องทำความเข้าใจให้ตรงตามหลัก“ นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า แน่นอนว่าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันว่าจะเดินต่อในเรื่องนี้ โดยกัมพูชารอเราตั้งคณะกรรมการที่จะศึกษา เป็นตัวแทนไปพูดคุย ซึ่งมีทั้งกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงกลาโหม และกระทรวงพลังงาน ที่จะช่วยกันดู

เมื่อถามว่าหวั่นประเด็นนี้จะบานปลายหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการแล้ว ไม่น่าบานปลาย มันคือข้อเท็จจริงว่าต้องเป็นแบบนั้น ไม่มีคุยข้างหลัง คือหลักคิด และตามกฎหมายอยู่แล้ว และไม่ถือเป็นเผือกร้อนในมือของตนเอง

ส่วนแนวทางการแบ่งปิโตรเลียมใต้ทะเลนั้น ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดด้วยว่าจะสามารถแบ่งอย่างไรได้บ้าง เพื่อได้ผลประโยชน์ทั้งสองประเทศ และเกิดความยุติธรรมมากที่สุด ซึ่งเราทราบข้อดีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ต้องตั้งคณะกรรมการหรือผู้รู้เพื่อไปศึกษาร่วมกัน เพื่อให้ได้คำตอบที่จะสามารถตอบประชาชนได้อย่างชัดเจนซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระยะเวลาในการตั้งคณะกรรมการ ว่า ไม่น่าจะใช้เวลานาน เพราะมีการตั้งมาสักพักแล้ว ตั้งแต่ตนเองได้รับตำแหน่ง ขอให้รอนิดนึงเพื่อให้ลงตัว

เมื่อถามว่าจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาของนายทักษิณ ชินวัตร บิดา เพื่อช่วยในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเน็คชั่นส์ดี ๆ ได้ เหมือนเวลามีเพื่อนสนิทก็สามารถพูดคุยกันได้แต่เรื่องประโยชน์ของประเทศต้องใช้คณะกรรมการเพื่อจะได้ไม่มีอคติ หรือความรู้สึกว่าเป็นของฉัน หรือของเธอ เพื่อเกิดความรู้จริง รู้ครบ และยุติธรรม

“ดิฉันเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่บอกไปว่า ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน เพราะฉะนั้น รัฐบาลนี้ ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ” นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend