POLITICS

‘ชูศักดิ์’ แจงเหตุ โหวตคว่ำข้อเสนอคำถามประชามติ ‘ก้าวไกล’ เพราะหวั่นไม่ผ่าน สว.

‘ชูศักดิ์’ แจงเหตุ โหวตคว่ำข้อเสนอคำถามประชามติ ‘ก้าวไกล’ เพราะหวั่นไม่ผ่าน สว. ชี้ มติ ครม. ช่วยร่นระยะเวลาได้ อุบตอบ ‘แพทองธาร’ เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่

รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงขั้นตอนการเสนอคำถามประชามติจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะดำเนินการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก โดยในส่วนของคำถามประชามติเป็นหน้าที่ของ ครม. ต้องคิดคำถามโดยพรรคเพื่อไทยได้มีมติเสนอคำถามให้ ครม. พิจารณา อันมีมีเนื้อหาสาระว่า ประชาชนเห็นควรหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งคำถามอาจมีการปรับแก้อย่างไรตามความเหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับ ครม.

รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ระบุว่า หาก ครม. มีมติแล้ว เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะดำเนินการจัดทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน หรือประมาณ 3 เดือน และหากประชามติแรกผ่าน ครม. หรือพรรคการเมืองจะต้องนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีสาระสำคัญคือเสนอแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการ สสร. ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ

“เมื่อจัดทำกฎหมายแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการเลือก สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมเข้าใจว่าระยะเวลากว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ไม่น่าจะเกิน 3 ปี บวกลบประมาณนั้น”

ส่วนเหตุใดพรรคเพื่อไทยถึงไม่ร่วมลงมติเห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวาระการพิจารณาคำถามประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญมาพิจารณาก่อน ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ระบุว่า เมื่อวานเข้าใจสาเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตติมา แต่แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ผ่าน ก็ยังไม่จบ เพราะต้องอาศัยรัฐสภา จึงต้องเข้าสู่การพิจารณาในวุฒิสภาต่อไป

“ก็ต้องดูอีกว่าวุฒิสภาจะผ่านไหม ผมจึงคิดว่าการที่ ครม. จะมีมติเสียเลย จะย่นย่อระยะเวลาได้ ญัตติของก้าวไกล ถึงแม้เมื่อวานผ่านไปถึงวุฒิสภา ผมถามสื่อมวลชนว่าจะผ่านหรือไม่ เพราะกฎหมายประชามติใช้คำว่ารัฐสภา จึงต้องพิจารณากันทีละสภา” รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ

ส่วนข้อกังวลของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางฝ่ายว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอาจกระทบกับรัฐธรรมนูญหมวด 1 หรือหมวด 2 จึงควรเสนอเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในคำถามประชามติครั้งแรกนั้น รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่าอาจไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเนื่องจากมาตรา 255 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้อยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐไม่ได้ และเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเปลี่ยน

สำหรับการนัดประชุมของพรรคเพื่อไทยเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นั้น รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ กล่าวว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายกัน ส่วนคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็เป็นไปตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยระบุไว้ว่าต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับกระแสข่าวที่หัวหน้าพรรคคนต่อไปอาจจะเป็น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นั้นรักษาการหัวหน้าพรรคยืนยันว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็น สส. ส่วนจะเป็นนางสาวแพทองธาร หรือไม่ยังไม่ทราบ

ทั้งนี้โดยหลักทั่วไปการเลือกหัวหน้าพรรคต้องเรียกประชุมวิสามัญซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ โดยสมาชิกทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อกรรมการบริหาร

Related Posts

Send this to a friend