POLITICS

เปิดทุกมาตราปัญหาวินิจฉัยร่างกฎหมายเลือกตั้ง หลังศาล รธน.ตัดสิน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เปิดทุกมาตราปัญหาวินิจฉัยร่างกฎหมายเลือกตั้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งการตราและสาระ

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีวันนี้ (30 พ.ย. 65) คำร้องจากสมาชิกรัฐสภา ขอให้วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่เป็นที่รู้จักในชื่อ กฎหมายลูก หรือกฎหมายเลือกตั้ง ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในช่วงเที่ยง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า มาตรา 25 แห่งร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับมาตรา 26 แห่งร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2)

The Reporters สรุปรายละเอียดมติทั้ง 3 ส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

  1. มติเอกฉันท์ กระบวนการตราร่าง พ.ร.ป. ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132

เดิมที รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของรัฐสภาในการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน หากไม่แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอ

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะผู้ร้อง เคยเปิดเผยกับสื่อมวลชนขณะยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 65 ว่าประเด็นนี้เห็นว่า ร่าง พ.ร.ป. ตราขึ้นไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสองพรรคการเมืองใหญ่ ร่วมกันถ่วงเวลา ไม่แสดงตน ทำให้การประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่มถึง 4 ครั้ง

สรุปว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ในประเด็นนี้ เท่ากับเห็นว่า กระบวนการร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 โดยชอบแล้ว

  1. มติเอกฉันท์ มาตรา 25 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-94

เดิมที รัฐธรรมนูญ มาตรา 93 บัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี หรือที่มักเรียกว่า ส.ส. พึงมี และจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับ ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.

คำร้องเห็นว่า มาตรา 25 แห่งร่าง พ.ร.ป. ฉบับใหม่นี้ ยกเลิกความในมาตรา 130 แห่ง พ.ร.ป. ฉบับเดิม โดยให้ใช้ความแทนว่า “เมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ให้นำผลไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อมีประธานรัฐสภาแล้ว ให้ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยเร็ว” ทำให้มาตรา 25 แห่ง พ.ร.ป. ฉบับใหม่นี้ ไม่มีการคำนวณถึง ส.ส. พึงมี ตามรัฐธรรมนูญ ในความเห็นของผู้ร้อง

ทั้งนี้ การคำนวณ ส.ส. พึงมีนั้น ก็จำเป็นต้องอาศัยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คนในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตรงกับความเห็นของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยอย่าง นพ.ระวี ที่หวังให้การคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หารด้วย 500

สรุปว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ในประเด็นนี้ เท่ากับเห็นว่า การคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีการหารด้วย 100 ตามจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องอาศัยจำนวน ส.ส. พึงมี

  1. มติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มาตรา 26 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-94

เดิมที รัฐธรรมนูญ มาตรา 94 บัญญัติเกี่ยวกับ จำนวน ส.ส. พึงมี ของแต่ละพรรคการเมืองที่เคยคำนวณไว้เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ว่าจะไม่กระทบหากมีการเลือกตั้งใหม่ในบางเขตเลือกตั้ง เนื่องด้วยเหตุที่การเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านไปมากกว่า 1 ปีแล้วนั้น มิได้เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม

มาตรา 26 แห่ง พ.ร.ป. ฉบับใหม่ที่เป็นปัญหาสู่การวินิจฉัยนั้น บัญญัติให้ยกเลิกมาตรา 131 แห่ง พ.ร.ป. ฉบับเดิม ซึ่งกำหนดให้มีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ของพรรคการเมือง หากเคยนำคะแนนของอดีตผู้สมัครที่ทุจริตและไม่ได้รับเลือกตั้งไปแล้วมาคำนวณด้วย โดยไม่ให้รวมไปในการคำนวณใหม่อีก

สรุปว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก ในประเด็นนี้ เท่ากับเห็นว่า การยกเลิก การคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใหม่ไปตามกรณีข้างต้นนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง ตามกระบวนการทางกฎหมาย หลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะแจ้งผลคำวินิจฉัยไปยังประธานรัฐสภา เพื่อส่งร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ให้นายกรัฐมนตรีพักรอไว้ 5 วัน เผื่อมีการร้องขอให้วินิจฉัยใหม่อีก แต่หากพ้น 5 วันแล้ว ไม่มีประเด็นร้อง ขั้นตอนต่อไปคือ ภายใน 20 วันนั้น นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

Related Posts

Send this to a friend