POLITICS

‘ปิยบุตร’ แจงหลักการ 12 ข้อ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ปัดแบ่งแยกดินแดน

‘ปิยบุตร’ แจงหลักการ 12 ข้อ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ เติมเต็มกระจายอำนาจให้สมบูรณ์ ออกตัวปัดแบ่งแยกดินแดน หวั่นคนตีความพิสดาร หวัง ส.ว. แสดงให้เห็นว่าไม่ขวางแก้ รธน. ที่เป็นประโยชน์ประชาชน

วันนี้ (30 พ.ย. 65) ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมนั้น รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ลุกขึ้นชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น) หรือปลดล็อกท้องถิ่น

รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า แม้การกระจายอำนาจเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานแล้ว อย่างที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 วันนี้ในปี พ.ศ. 2565 ก็มีการกระจายอำนาจตามลำดับและสมควร แต่ยังไม่สมบูรณ์ ด้วยปัญหา ดังนี้

  1. อำนาจและภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอยู่อย่างจำกัด ในการแก้ไขปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนให้ทันท่วงที
  2. อำนาจของราชการส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ทับซ้อนกับอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่น จนการดำเนินการบางอย่างก็ซ้ำซ้อนหรือเกี่ยวกันแล้วแต่กรณี
  3. งบประมาณของ อปท. ไม่เพียงพอ และขาดความเป็นอิสระ
  4. การกำกับดูแลท้องถิ่นจากส่วนกลาง มักกลายเป็นการบังคับบัญชา
  5. การกระจายอำนาจถึงท้องถิ่นนั้น ปราศจากการมีส่วนร่วมของพลเมืองท้องถิ่น

รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดนี้ที่เรารวบรวมสังเคราะห์มา ร่วมกับการศึกษางานวิจัยจำนวนมาก ทั้งจากสถาบันพระปกเกล้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ตลอดจนการลงพื้นที่ และพูดคุยกับผู้บริหารท้องถิ่น จึงได้มาซึ่งการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 12 ข้อ ได้แก่

  1. รับรองหลักการกระจายอำนาจ หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น หลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ถ้าท่านสังเกตดูจะเห็นได้ว่า ผมเริ่มต้นไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 1 ซึ่งจะเป็นการยืนยันว่า การกระจายอำนาจในประเทศไทย อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร อยู่ภายใต้หลักการเป็นรัฐเดี่ยว เพื่อป้องกันปัญหาคนตีความพิสดาร คนเข้าใจพวกผมแบบผิด ๆ ที่จะบอกว่าพวกเรากระจายอำนาจแล้วนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ยืนยันว่าไม่ยุ่งกับรูปแบบของรัฐ และโครงสร้างการเป็นรัฐเดี่ยว อย่างไรประเทศไทยก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวอันแบ่งแยกมิได้ อย่างไรประเทศไทยก็เป็นราชอาณาจักรอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” รศ.ปิยบุตร กล่าว

  1. การกำหนดอำนาจหน้าที่แบบทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะให้กับท้องถิ่น ให้เป็นอำนาจของท้องถิ่นทั้งหมด เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายห้ามไว้ เช่น เรื่องความมั่นคง เรื่องเงินตรา หรือเรื่องที่จะกระเทือนถึงประเทศชาติ
  2. แก้ไขความซ้ำซ้อนของอำนาจระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กับส่วนท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นมีอำนาจแก้ไขปัญหาในพื้นที่เองก่อน หากทำไม่ได้จึงค่อยประสานกับส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค
  3. กำหนดประเภทของ อปท. คือแบบทั่วไป และแบบพิเศษ พร้อมเปิดทางถึงการสร้าง อปท. ใหม่ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
  4. ให้คนในท้องถิ่นมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่น
  5. ให้ออก พ.ร.บ. ขยายรายละเอียดของ อปท. ว่าภายในกี่ปีจะขยับสัดส่วนรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นในอัตรา 50:50 และให้ส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงเงินกู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้
  6. ให้ตรากฎหมายอีกฉบับ อธิบายรูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะที่มีมากขี้น
  7. ให้ส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล
  8. ส่วนกลางยังมีอำนาจในการกำกับดูแลส่วนท้องถิ่นในภายหลังจากส่วนท้องถิ่นดำเนินการไปแล้ว
  9. เติมพลังให้กับพลเมืองท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น การจัดตั้งสภาพลเมืองท้องถิ่น การร่วมกำหนดงบประมาณ ไปจนถึงการจัดทำประชามติระดับท้องถิ่น
  10. กำหนดกฎหมายถ่ายโอนสภาพบังคับต่าง ๆ
  11. จัดการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับราชการส่วนภูมิภาค

รศ.ปิยบุตร กล่าวว่า ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 ทั้ง 12 ประเด็น ผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ในซีกของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ผมเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองสนับสนุนการกระจายอำนาจ เท่าที่ผมสำรวจความเห็นว่า ไม่มีพรรคไหนบอกไม่เอากระจายอำนาจ แต่อาจเห็นต่างกันบ้างในรายละเอียด เราสามารถไปปรับปรุงแก้ไขต่อไปในวาระที่ 2 เช่นกันในสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายท่านพูดชัดเจนในการสนับสนุนการกระจายอำนาจ

“ร่างนี้อาจจะช่วยให้เพื่อนสมาชิกวุฒิสภา แสดงให้สังคมเห็นว่า วุฒิสภาไม่ได้ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ หากเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แสดงให้เห็นว่า สมาชิกวุฒิสภาก็เอาด้วย หากเป็นประโยชน์ต่อประชาชน” รศ.ปิยบุตร ปิดท้ายการชี้แจง และยินดีตอบคำถามของสมาชิกรัฐสภาในโอกาสถัดไป

Related Posts

Send this to a friend