‘ธีรัจชัย’ จี้ สตง. แจงปม ออกแบบ-จัดซื้อ-คุมงาน สงสัย ‘พลาดสุจริต หรือ ถูกต้องทุจริต’ ชง ป.ป.ช. สอบต่อ
วันนี้ (30 เม.ย. 68) นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ในฐานะรองประธาน กมธ. และ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง กรณีอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว
นายฉลาด กล่าวว่า กมธ.ป.ป.ช. ได้เชิญผู้ว่า สตง. พร้อมคณะรวม 19 คน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในประเด็นที่สาธารณชนกังขา โดยมีข้อมูลเข้ามาจากหลายทาง เช่น ประเด็นเกี่ยวกับบุคคลที่เซ็นรับรองแบบ และผู้ที่เซ็นรับรองแต่ไม่ใช่ผู้ควบคุมงาน ซึ่งมีบุคคลให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในเอกสาร โดยเฉพาะนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่างวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ที่ระบุในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมงานในฐานะผู้รับจ้าง แต่ทาง สตง. มีข้อมูลว่านายสมเกียรติเป็นหนึ่งในผู้รับจ้างในนามกิจการร่วมค้า PKW ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ และเป็นประเด็นที่ กมธ. สงสัย
ด้านนายธีรัจชัย ระบุว่า สตง. ได้ชี้แจงอย่างชัดเจน โดย กมธ. มุ่งติดตามเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง และการควบคุมงานก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ ในส่วนของการออกแบบ กมธ. ตั้งคำถามว่าเหตุใด สตง. จึงใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะ แทนการประมูลแบบตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งผู้ว่า สตง. ชี้แจงว่าเป็นอาคารที่มีความซับซ้อนและมีกฎกระทรวงรองรับการดำเนินการดังกล่าว
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง นายธีรัจชัย ตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้เวลาเพียง 1 เดือนในการเลือกแบบก่อสร้าง และใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ที่ลดราคาไป 300 ล้านบาทในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ธนาคารโลกได้สั่งห้ามบริษัทแม่ของผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารนี้ดำเนินโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก จากกรณีสิ่งก่อสร้างอื่น เช่น สะพานในประเทศชิลี เกิดการถล่ม ซึ่งนายธีรัจชัยเห็นว่าเป็นข่าวที่น่าจะทราบกันทั่วโลก แต่ยังคงมีการจ้างบริษัทดังกล่าวที่เพิ่งจดทะเบียนในไทยเพียง 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการที่บริษัทต่างชาติซื้อซองประมูลก่อน แต่ภายหลังกลับให้บริษัทในไทยซึ่งมีผลงานเป็นผู้ยื่นซองแทน ทำให้นายธีรัจชัยตั้งคำถามถึงผู้รับผิดชอบหลักในการก่อสร้างว่าเป็นบริษัทไทยหรือจีน แม้บริษัทไทยจะถือหุ้น 51% และจีน 49% แต่จากข้อมูลที่ปรากฏ นายธีรัจชัยเห็นว่าความรับผิดชอบส่วนใหญ่อยู่ที่บริษัทจีน
ในส่วนของการควบคุมงาน นายธีรัจชัย กล่าวว่า ใช้วิธีคัดเลือก ไม่ใช่ E-bidding พร้อมนำความเห็นนักวิชาการมาเสนอว่า หากมีการสมยอมกัน (ฮั้ว) ระหว่างบริษัทออกแบบ บริษัทควบคุมงาน และบริษัทก่อสร้าง อาจนำไปสู่การแก้ไขแบบโดยตกลงกันล่วงหน้า จากการสอบถามพบว่ามีการแก้ไขแบบถึง 9 ครั้ง ซึ่งนายธีรัจชัยตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขแบบดังกล่าวเป็นการลดต้นทุนจริงหรือไม่ จะส่งผลกระทบอย่างไร ผู้แก้ไขได้สอบถามคณะกรรมการควบคุมงานของ สตง. หรือไม่ รวมถึงประเด็นที่วิศวกรผู้ควบคุมงานมีข่าวว่าถูกปลอมลายเซ็น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไป
นายธีรัจชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบวัสดุก่อสร้างโดยคณะกรรมการควบคุมงานของ สตง. ว่าหากมีการฮั้วจริง อาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้ และมองว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน และการออกแบบ อาจยังไม่รัดกุมเพียงพอ จากข้อมูลที่ได้รับชี้แจงทั้งหมด นายธีรัจชัยตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการบกพร่องผิดพลาดโดยสุจริต หรือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแต่มีเจตนาทุจริต พร้อมเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบภายในเพิ่มเติม เนื่องจาก สตง. เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถใช้ระเบียบเดียวกับหน่วยงานรัฐทั่วไปได้