POLITICS

‘อดิศร-โรม’ เสนอญัตติด่วน ถกวงการตำรวจ สส. รัฐบาล-ฝ่ายค้าน อภิปรายต่อเนื่อง

วันนี้ (28 ก.ย. 66) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายอดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันเสนอวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายอดิศร อภิปรายเสนอว่า ปัญหาความขัดแย้งในองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนมีผลกระทบกระเทือนต่อประชาชน โดยจะส่งความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรไปยังคณะรัฐมนตรี โดยหวังให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ ได้ขยายผลกรณีที่มีตำรวจนายหนึ่งกล่าวว่า หากเปิดเผยข้อมูลบางอย่างจะทำให้ตำรวจตายทั้งหมดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหากในองค์กรตำรวจไม่มีความสามัคคีก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชน

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเป็นกรรมาธิการในสภาฯ ชุดที่แล้ว ทำกฎหมายปฏิรูป ไม่ใช่ทำขึ้นมาเพื่อให้มีความขัดแย้ง แต่ทำเพื่อให้วงการตำรวจดีขึ้น แต่พอเห็นสัมภาษณ์ของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าว รับไม่ได้ จึงขออนุญาตยื่นญัตติโดยวาจาดังกล่าว ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ว่าตำรวจดีเดินหน้าไม่ได้ ในวันนี้หากมีปัญหาเรื่องส่วยก็ต้องนำมาพูดกัน ขณะเดียวกันกรรมาธิการตำรวจจะตั้งขึ้นในสัปดาห์หน้าเพื่อไปศึกษาในเรื่องดังกล่าว

ขณะเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อส่งความเห็นและข้อร้องเรียนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจ

นายรังสิมันต์ ได้อภิปรายถึงกรณีที่ปรากฎต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีการยิงตำรวจที่เสียชีวิต และการพยายามแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในกองบังคับการตำรวจทางหลวง (คดีกำนันนก) และกรณีการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อดำเนินการจับกุมขณะทำงานของ รอง ผบ.ตร. และการบุกค้นบ้านพักของ รอง ผบ.ตร. ซึ่งความเห็นจากตำรวจหลายนาย ระบุว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และคาดว่าน่าจะมีเหตุผลพิเศษที่นอกจากการทำหน้าที่ตามวิสัยของตำรวจทั่วไป โดยที่ทั้ง 2 กรณีนี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในฐานะผู้รักษาสันติราษฎร์ โดยเฉพาะเกิดเหตุการณ์ขึ้นในช่วงเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระทำเพื่อช่วงชิงตำแหน่งหรือไม่ และถูกมองว่าเป็นการตัดตอนตำรวจที่ทำคดีกำนันนก

นายรังสิมันต์ ได้อภิปรายโดยยกกรณีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปตำรวจ โดยในช่วงหนึ่ง นายรังสิมันต์ ได้อภิปรายถึงข้อเสนอ 3 วิธีการเลือก ผบ.ตร. ให้มีความโปร่งใส โดยระบุว่าสามารถทำโดยอาศัยพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปัจจุบันได้ ไม่ต้องแก้กฎหมาย

โดยทั้ง 3 ข้อเสนอนั้น ประกอบด้วย

1.การเปิดให้ รอง ผบ.ตร. ที่ต้องการเป็น ผบ.ตร. ต้องสมัครรับเลือก พร้อมเอกสารแสดงผลงานประกอบการพิจารณา เพื่อนำมาแสดงให้กรรมการกลั่นกรองได้ใช้ดุลพินิจ แสดงวิสัยทัศน์ต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจ เชื่อหากทำได้ จะหมดข้อครหาเรื่องตั๋วและเส้นสายที่ไม่ชอบธรรม

2.การแสดงวิสัยทัศน์ต่อสังคม ประชาชน และตำรวจ เพื่อที่จะได้เห็นว่าผู้สมัครแต่ละคนมีวิสัยทัศน์อย่างไร จะเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจอย่างไร จะทำให้ชีวิตของตำรวจดีขึ้นอย่างไร ให้ตำรวจทั่วประเทศได้รับรู้ และสังคมได้แสดงความคิดเห็นร่วมด้วย

3.จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ตำรวจสามารถลงคะแนนเลือก รอง ผบ.ตร. ที่แต่ละคนเห็นว่าสมควรได้เป็น ผบ.ตร. มากที่สุด โดยไม่ต้องถึงขั้นให้การลงคะแนนนี้เป็นตัวชี้วัดก็ได้ แต่ให้อย่างน้อยเป็นการหยั่งเสียงของตำรวจชั้นผู้น้อย ให้นายกรัฐมนตรี ได้ข้อมูลนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป

นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า 3 ขั้นตอนนี้ถ้าทำได้ องค์กรตำรวจจะหมดข้อครหาเรื่องตั๋ว เส้นสาย และการเลือกคนมาเป็น ผบ.ตร. ที่ไม่มีความชอบธรรม นี่คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาของตำรวจ สามารถทำได้ทันที ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้องค์กรตำรวจดีขึ้นได้

เมื่อทั้งนายอดิศร และนายรังสิมันต์ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเสร็จสิ้น และมีผู้รับรองถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม ประธานการประชุมจึงเปิดให้สมาชิกร่วมกันอภิปรายตามลำดับ ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่ามี สส. จากหลากหลายพรรคการเมือง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมอภิปรายต่อเนื่องกัน

Related Posts

Send this to a friend