POLITICS

‘สว.เทวฤทธิ์’ หวั่น พ.ร.บ.ประชามติ ซ้ำรอยปี 59 เหตุยังไม่นิยาม – กำหนดบทลงโทษ

‘สว.เทวฤทธิ์’ หวั่น พ.ร.บ.ประชามติ ซ้ำรอยปี 59 เหตุยังไม่นิยาม – กำหนดบทลงโทษ ปมชี้นำผู้ออกเสียง หวังประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (27 ส.ค. 67) ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการางแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบแล้ว โดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญจำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มสื่อสารมวลชน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยินดีในระดับหนึ่งที่วุฒิสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะอย่างน้อยก็ได้เป็นการปลดล็อกเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 14 วรรคสาม ของร่าง พ.ร.บ.เดิม ที่ระบุว่า “การจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงตามวรรคหนึ่ง ต้องมุ่งหมายให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงและต้องไม่มีลักษณะชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงนั้น” ซึ่งมีการเพิ่มถ้อยคำจากมาตรา 14 เดิมให้มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นด้วยคำว่า “ต้องไม่มีลักษณะชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือลงคะแนนออกเสียงทางใดทางหนึ่งกับเรื่องที่จะมีการออกเสียงนั้น” แม้จะเป็นวรรคที่ต่อเนื่องจากวรรคหนึ่งที่กำหนดกรอบการเผยแพร่ข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องที่อดกังวลไม่ได้ว่าจะถูกหยิบมาใช้บางส่วนเพื่อจำกัดหรือข่มขู่เพื่อสร้างอุปสรรคของการมีส่วนร่วมของประชาชน

“หวังว่าการทำประชามติจะไม่เป็นเพียงแค่เครื่องมือเพื่อเอาผลเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญของประชามติคือกระบวนการที่ต้องการันตีว่าประชาชนจะมีเสรีภาพและเป็นธรรมในการแสดงออกและมีส่วนร่วม ซึ่งจะยังผลของมติที่ออกมาจากเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง” นายเทวฤทธิ์ กล่าว

หากย้อนไปเมื่อปี 2559 ไทยมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต่อมาจะถูกประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ พ.ศ.2559 พร้อมกับที่ กกต.ออกมาตรการ “6 ข้อทำได้-8 ข้อทำไม่ได้” ขึ้นมากำกับการรณรงค์ประชามติในครั้งนี้ ประกอบกับในขณะนั้นสังคมไทยยังอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ส่งผลให้ผู้รณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญต้องถูกดำเนินคดีและถูกจับกุมคุมขังจากการใช้เสรีภาพกว่า 203 คน ทั้งอ้าง พรบ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 (43 คน) หรืออ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (160 คน) จากกรณีที่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รณรงค์ให้ความรู้ การเสวนา การเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ หรือแม้แต่การวิเคราะห์ข่าว ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ หรือเห็นแย้งจากข้อมูลของภาครัฐ

ด้วยเหตุนี้การที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ยังไม่กำหนดหลักนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับการ “ลักษณะชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือลงคะแนนออกเสียงทางใดทางหนึ่งกับเรื่องที่จะมีการออกเสียง” ตลอดจนยังมีบทกำหนดโทษที่อาจตีความไปถึงการรณรงค์ในลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ ฉบับปี 2559 ก็ยังไม่มีหลักประกันใดที่ประชามติครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายใหม่จะเสรีและเป็นธรรม หรือมีการรณรงค์ได้อย่างปลอดภัยและกว้างขวาง ไม่ซ้ำรอยตราบาปของประชามติปี 2559 ที่พรากเอาเสรีภาพและความเป็นธรรมไปจากประชาชนนับร้อยราย จนทำให้ได้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นหนึ่งในตัวการวางสารพัดกับดักให้กับประชาธิปไตยไทย

Related Posts

Send this to a friend