POLITICS

‘ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ ยื่นรายชื่อกว่า 205,739 รายชื่อ ให้ ‘เพื่อไทย’

ด้าน ‘ชลน่าน’ ย้ำ เป็นนโยบายหลักของพรรค ขอคุยพรรคร่วมก่อนเสนอสภา

วันนี้ (28 ส.ค. 66) ที่ทำการพรรคเพื่อไทย กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย iLaw ยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทย ขอให้พิจารณาคำถามประชามติรัฐธรรมนูญว่า ต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.จากการเลือกตั้ง 100% โดยไม่ต้องรอ กกต.ตรวจเอกสาร ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้แทนรับหนังสือ

โดยตัวแทนกลุ่ม ‘ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ ได้อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยออกแถลงการณ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 และครั้งที่สองร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เรื่อง การประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีสาระสำคัญตรงกันที่จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีมติให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นเป็นนิมิตรหมายอันดีและเห็นความตั้งใจดีของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น

แต่ยังคงมีความกังวลว่า หากในการทำประชามตินั้น คณะรัฐมนตรีออกแบบคำถามการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีเงื่อนไข หรือให้บุคคลที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม จะทำให้ประชาชนที่ไปออกเสียงประชามติไม่มีทางเลือกหรือผลการทำประชามติ ไม่มีความหมาย ไม่สะท้อนเจตจำนงค์ของประชาชน และไม่นำไปสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของนักกิจกรรมทางสังคม และองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญของการตั้งคำถามในการทำประชามติตั้งแต่เริ่มต้น จึงประสงค์ที่จะเสนอคำถามที่ครอบคลุมชัดเจนว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และหากจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยได้ใช้สิทธิตามมาตรา 9 (5) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 รวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามดังกล่าว

โดยกิจกรรมนี้มีประชาชนที่เห็นด้วยจำนวนมาก และช่วยกันรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 205 ชื่อ ด้วยการลงชื่อบนกระดาษภายในเวลาเพียงสั้น ๆ และอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเอกสารเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ด้วยจำนวนรายชื่อของประชาชนที่มากเช่นนี้ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความไม่มั่นใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตรวจสอบรายชื่อด้วยความรวดเร็วและเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทันการประชุมเริ่มคณะรัฐมนตรีใหม่นัดแรก จึงนำคำถามประชามติที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอนี้มายื่นต่อพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้นำคำถามนี้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก และตัดสินใจให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญและมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่ประชาชนต้องการจะเห็น โดยไม่ต้องรอขั้นตอนการเสนอเรื่องของหน่วยงานราชการ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในนามพรรคเพื่อไทย และในนามนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ขอขอบคุณประชาชนทุกคน โดยนายชูศักดิ์ได้เคยเสนอเรื่องนี้ไปในสภาแล้ว เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าทำประชามติแล้วผ่านได้ ก็ดำเนินการต่อ ซึ่งส่วนนี้เป็นประโยชน์ต่อคณะรัฐมนตรีมาก แต่ก็ต้องไปกำหนดเป็นนโยบายร่วมของรัฐสภา ส่วนจะเป็นไปตามข้อเสนอทั้งหมดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา โดยยืนยันว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย

นายชูศักดิ์ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยริเริ่มการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 เพื่อให้เลือกตั้ง สสร. แต่เมื่อผ่านไปจนจบวาระที่ 2 กำลังเข้าวาระ 3 ก็มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีอำนาจหรือไม่ ซึ่งถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้คืออ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ผ่านประชามติ ดังนั้น การจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องถามประชาชนก่อนว่ามีความประสงค์จะทำใหม่หรือไม่ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถโหวตผ่านไปวาระที่ 3 ได้

เรายืนยันว่าเรามีจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติก่อน เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราได้ถามประชาชนแล้ว และจะใช้หลักการเลือก สสร. เป็นคำถามเหมือนกัน เพื่อให้การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะได้เดินไปได้ด้วยความราบรื่น ซึ่งกว่าจะผ่านไปได้ ก็ต้องทำประชามติอีกหลายครั้ง จึงมีหลายคำถามว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมากไปหรือไม่ กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย”

Related Posts

Send this to a friend