POLITICS

‘ชวน’ เตือน ปมขัดแย้งชิงประธานสภา หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ

‘ชวน’ เตือน ปมขัดแย้งชิงประธานสภา หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ แนะ 2 พรรค หารือใกล้ชิด และต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ ปัญหาจึงจะยุติ

นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปี ก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิถุนายน ว่าตำแหน่งประมุขของสภานิติบัญญัติมีความสำคัญ เพราะเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย ซึ่งตำแหน่งประธานสภาฯ นั้นสภาฯ จะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของ ส.ส.ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่ประธานสภาฯ ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม แต่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่ได้เสียงใกล้เคียงกัน จะไม่ร่วมรัฐบาลเพราะจะทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน

นายชวน มองว่าสถานการณ์ของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันทำให้เกิดความไม่ชัดเจนนั้น ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งตำแหน่ง แต่ครั้งนี้ดูจะมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภาฯ และ ตำแหน่งนายกฯ หากเอาทุกตำแหน่งปัญหาอาจจะไม่จบ

ประเด็นที่พรรคก้าวไกล กังวลว่าหากไม่ได้ประธานสภาฯ จะผลักดันกฎหมายของตนไม่ได้ นายชวน กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภาฯ ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือขัดกับข้อบังคับการประชุมได้ ส่วนที่ระบุว่าหากไม่ได้ประธานสภาฯ จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯ นั้น ก็ไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ซึ่งประธานสภาฯ ต้องดำเนินการตามมติของสภาฯ ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ อีกทั้งการผลักดันกฎหมาย ประธานสภาฯ ไม่สามารถทำตามอำเภอใจว่าจะเอากฎหมายของใครขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ต้องเป็นไปตามลำดับการเสนอจากสมาชิก หากจะเปลี่ยนวาระต้องขอมติจากที่ประชุม

นายชวน กล่าวอีกว่าพรรคที่ต้องการเสนอร่างกฎหมาย 100 ฉบับ สามารถผลักดันโดยใช้ช่องเป็นกฎหมายของรัฐบาล เพราะตามข้อบังคับกฎหมายของรัฐบาลจะบรรจุเป็นเรื่องด่วน ที่ผ่านมาร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอไม่มีค้าง แต่กฎหมายของฝ่ายค้านค้างจำนวนมาก ซึ่งเป็นปกติของการปกครอง หากเสนอร่างกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล

ปัญหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย หากเข้าใจบทบาทสภาฯ จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจจะหารือกันยาก หาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันง่าย ดังนั้น ปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาการตั้งประธานสภาฯ ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา

นายชวน กล่าวถึงลักษณะของบุคคลที่จะเป็นประธานสภาฯ ว่าต้องเตรียมตัว ศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบ โดยคนที่เป็นประธานสภาฯ ต้องลาออกจากตำแหน่งในพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับพรรคตัวเอง หากพรรคเลือกคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้เลือกปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนพรรคที่เลือกตัวแทนเข้ามา ต้องเลือกคนที่เป็นหน้าตาให้พรรค ดังนั้นพฤติกรรม นิสัยใจคอ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ เลือกคนที่เข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่าจะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ

Related Posts

Send this to a friend